Authentic Assessment
การประเมินตามสภาพจริง เป็นการประเมินการแสดงออกถึงกระบวนการทำงานผ่านการปฏิบัติ เพื่อค้นหาศักยภาพหรือคุณลักษณะที่แท้จริงของผู้เรียน โดยใช้กิจกรรม เรื่องราว เหตุการณ์ สถานการณ์ ภาระงาน ชิ้นงาน ที่นักเรียนได้ประสบในชีวิตประจำวัน หรือจากงาน/สถานการณ์ที่เป็นจริงในชีวิต (Real Life) ซึ่งเป็นงาน/สถานการณ์ซับซ้อน (Complexity) เป็นองค์รวม (Holistic) โดยดำเนินการต่อเนื่องตลอดการเรียนการสอน ผสานทั้งการเรียนการสอน (Teaching) การเรียนรู้ (Learning) และการประเมิน (Assessing) เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ด้วยเครื่องมือและวิธีการประเมินที่หลากหลาย มีการเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพจากกระบวนการเรียนรู้ (process) การปฏิบัติงาน (Performance) และผลผลิตที่ได้จากการเรียนรู้ ที่จะช่วยสะท้อนถึงความรู้ ความสามารถ และทักษะต่าง ๆ ที่มีอยู่ในตัวของผู้เรียน ตลอดจนการนำไปใช้ในการส่งเสริมและพัฒนาจุดแข็งหรือข้อบกพร่องในการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นรายบุคคลได้ตรงจุด
ลักษณะสำคัญของการประเมินตามสภาพจริงนั้น เป็นการประเมินความก้าวหน้าของผู้เรียนและการแสดงออกของผู้เรียนรายบุคคลผ่านการปฏิบัติจริงด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย มุ่งเน้นพัฒนาการของผู้เรียน รวมทั้งเนื้อหาสาระทั้งในภาพกว้างและภาพรวมของการเรียนรู้และความสามารถของผู้เรียน อันจะนำไปสู่การพัฒนาให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม เพื่อให้ผู้เรียนได้บรรลุเป้าหมาย สนองความต้องการ และเสริมสร้างศักยภาพของผู้เรียนได้อย่างเต็มที่ ลักษณะสำคัญของการประเมินสภาพจริง คือ ภาระงาน (Tasks) ซึ่งต้องเป็นงานที่สอดคล้องกับชีวิตจริงในบริบทที่หลากหลาย เป็นการประเมินความก้าวหน้า (Formative Assessment) อย่างต่อเนื่อง รวมถึงกลยุทธ์ที่ผู้เรียนใช้ในการเรียนรู้ ออกแบบการประเมินสำหรับระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันและมีลักษณะเฉพาะสำหรับผู้เรียนแต่ละบุคคล ตลอดจนให้สารสนเทศที่ช่วยสะท้อนความร่วมมือระหว่างนักเรียนและครู มีคำแนะนำในการประเมินที่มุ่งเน้นว่าผู้เรียนมีความรู้และสามารถทำอะไรได้
การประเมินตามสภาพจริงเป็นการประเมินรอบด้านทั้งด้านกระบวนการในการเรียนรู้ การแก้ปัญหา การทำงานร่วมกัน และแรงจูงใจ ผ่านภาระงาน (Tasks) ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญในการประเมินที่ช่วยให้ผู้เรียนมีทักษะเพิ่มขึ้นและสามารถเชื่อมโยงไปใช้ในบริบทต่าง ๆ ดังนั้นในการประเมินตามสภาพจริงผู้สอนควรกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการวัดประเมินให้ชัดเจน กำหนดสิ่งที่มุ่งวัดประเมิน พัฒนาการที่เกิดขึ้นหรือสมรรถนะที่แสดงออก ใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีใด ใครบ้างที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ช่วงเวลาที่วัดประเมิน การเข้าถึงข้อมูลที่มุ่งวัดประเมิน และเกณฑ์การประเมินเป็นอย่างไร
ตัวอย่าง การประเมินตามสภาพจริงด้วยภาระงาน (Tasks)
ทักษะ | นิยาม/คำจำกัดความ | ภาระงาน (Tasks) | เครื่องมือที่ใช้ในการ เก็บรวบรวมข้อมูล |
กระบวนการในการเรียนรู้ | วิธีการได้มาซึ่งความรู้ | กระบวนการคิด การใช้คอมพิวเตอร์ กระบวนการด้านความปลอดภัย การขับรถยนต์ การรวบรวมประสบการณ์ การแก้ไขปัญหาในขณะทำงาน | แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกต แบบสอบถาม แบบประเมินชิ้นงาน แบบประเมินการปฏิบัติ แบบบันทึกการเรียนรู้ แฟ้มสะสมผลงาน |
การแก้ปัญหา | ใช้การคิดวิเคราะห์และทักษะการตัดสินใจ เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหา | การทดสอบสมมติฐาน การเขียน การพิจารณาและตัดสินคุณค่า การแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ การพิจารณาความน่าเชื่อถือจากหลักฐาน การให้เหตุผลแบบนิรนัย การทำแผนที่ความคิดเพื่อระบุตัวแปรของปัญหา | แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกต แบบสอบถาม แบบประเมินชิ้นงาน แบบประเมินการปฏิบัติ แบบบันทึกการเรียนรู้ แฟ้มสะสมผลงาน |
การทำงานร่วมกัน | การทำงานร่วมกับผู้อื่นเพื่อมุ่งไปสู่ความสำเร็จร่วมกัน | การฟัง (การสบตา การใช้คำถาม การตอบสนอง) ความร่วมมือ (การแบ่งปัน ความสุภาพ) การผลิตชิ้นงานร่วมกัน การนำเสนอเป็นกลุ่ม | แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกต แบบสอบถาม แบบประเมินชิ้นงาน แบบประเมินการปฏิบัติ แบบบันทึกการเรียนรู้ แฟ้มสะสมผลงาน |
แรงจูงใจ | ระดับความเต็มใจที่มีต่อบางสิ่ง | การกำหนดเป้าหมาย การวางแผนเพื่อไปสู่เป้าหมาย การประเมินความสำเร็จของตนเอง การแสดงออกถึงความมุ่งมั่น | แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกต แบบสอบถาม แบบประเมินชิ้นงาน แบบประเมินการปฏิบัติ แบบบันทึกการเรียนรู้ แฟ้มสะสมผลงาน |
ผู้สอนสามารถประยุกต์ใช้แอปพลิเคชันที่ชื่อว่า Thinglink ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันสำหรับสร้างแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้เรียน สามารถเชื่อมโยงไฟล์ เสียง วิดีโอ แผนที่ ไปยังแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ไว้บนภาพเดียวกัน โดยจะเปลี่ยนภาพนิ่งให้เป็นสื่อประสม เชิงโต้ตอบ (Interactive) ที่จะมีฟีเจอร์สำหรับ เพิ่มภาพประกอบ คำอธิบาย บทความ และลิงก์วีดีโออื่น ๆ เป็นต้น ทำให้เกิดการเรียนรู้ อย่างมีความหมายและก่อให้เกิดประกายแห่งความคิด สร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจในการบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ผ่านทางรูปภาพ ซึ่งผู้สอนสามารถบรรจุเนื้อหาข้อมูลจำนวนมากลงในรูปภาพที่มีขนาดเล็กได้ นอกจากนี้ผู้ใช้สามารถ embed ไปใส่ไว้ในเว็บไซด์ บล็อก (Blog) หรือแชร์ผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ได้ อีกด้วย