ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้ผู้สอนต้องเปลี่ยนรูปแบบการสอนเป็นแบบออนไลน์ทั้งหมด โดยทั้งผู้เรียนและผู้สอนส่วนใหญ่ไม่ได้เตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้าแต่อย่างใด จึงทำให้เกิดปัญหาทางด้านการเรียนการสอนต่าง ๆ ในหลายด้าน เช่น ผู้สอนบางคนขาดประสบการณ์การสอนแบบออนไลน์จึงทำให้ไม่สามารถจัดกิจกรรมการสอนให้ได้ผลลัพธ์การเรียนรู้ตามที่กำหนดไว้ได้ ในขณะที่ผู้เรียนบางส่วนก็ขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ หรืออินเทอร์เน็ตเพื่อใช้ในการเรียน เป็นต้น
ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ข้อมูลสภาพปัญหาการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ของผู้สอน และการเรียนออนไลน์ของผู้เรียนในระดับอุดมศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั้งรัฐและเอกชนพบข้อมูลที่ตรงกัน 2 ประการ คือ
- ผู้เรียนมักขาดแรงจูงใจ (Motivation) และความผูกพัน (Engagement) ในการเรียนออนไลน์ ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น รูปแบบกิจกรรมการสอนของผู้สอนไม่น่าสนใจ ผู้เรียนเองก็มีโอกาสเสียสมาธิการเรียนได้โดยง่ายจากสิ่งเร้าต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว
- เกิดความไม่เท่าเทียมกันในการเรียน เนื่องจากผู้เรียนบางคนขาดอุปกรณ์การเรียน หรือมีปัญหาด้านสัญญาณอินเทอร์เน็ต ทำให้บางครั้งผู้เรียนไม่สามารถเข้าเรียนได้ตามตารางที่ผู้สอนกำหนด หรือไม่สามารถเข้าทำกิจกรรมตามที่ผู้สอนมอบหมายได้เหมือนผู้เรียนคนอื่น ๆ
จากสภาพปัญหาที่ได้นำเสนอข้างต้นนั้น เป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการสอนออนไลน์ของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ดังนั้นเพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงขอนำเสนอรูปแบบการจัดการสอนออนไลน์ดังนี้
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended learning)
- (A) ส่วนที่ 1 Live online learning: การจัดการเรียนการสอนออนไลน์แบบประสานเวลา (Synchronous learning) เป็นรูปแบบการเรียนที่ผู้สอนและผู้เรียนมาเจอพร้อมกัน (Online meeting) ในช่วงเวลาที่กำหนด โดยผู้สอนควรจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุกในการสอนออนไลน์ (Active learning in online teaching) เพื่อสร้างแรงจูงใจ และความผูกพันในการเรียนออนไลน์ของผู้เรียน และไม่ควรใช้เวลาในการสอนนานเกินไป
- (B) ส่วนที่ 2 Self-paced learning: การจัดการสอนออนไลน์แบบไม่ประสานเวลา (Asynchronous learning) โดยผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เป็นรูปแบบการเรียนที่ผู้สอนสร้างบทเรียน และสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ ไว้บนระบบบริหารจัดการการเรียนรู้ (Learning Management System: LMS) เช่น Moodle Microsoft Teams Google Classroom Edmodo เป็นต้น และผู้เรียนเข้ามาเรียนรู้ในช่วงเวลาและสถานที่ที่สะดวก เพื่อลดปัญหาความไม่พร้อมในเรื่องของอุปกรณ์การเรียน หรือสัญญาณอินเทอร์เน็ต โดยผู้เรียนสามารถเข้าเรียนในช่วงเวลาใดก็ได้ที่พร้อมและมีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนเข้ามาเรียนรู้ ผู้สอนควรสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับเนื้อหา (Student-Content Interaction)
Interactive Self-Paced Learning
คือลักษณะการเรียนที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองตามสภาพความพร้อม หรืออัตราการเรียนรู้ของแต่ละคน ( Self-paced Learning ) ซึ่งเหมาะกับการสอนออนไลน์ของประเทศไทยในปัจจุบัน และเพื่อสร้างความน่าสนใจ และแรงจูงใจในการเรียนสำหรับผู้เรียนเมื่อต้องเรียนออนไลน์ในรูปแบบนี้ ผู้สอนควรออกแบบบทเรียนออนไลน์ที่สร้างปฏิสัมพันธ์กันระหว่างสื่อการเรียนรู้และผู้เรียน (Learner-Content Interaction)
ตัวอย่างวิธีการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างสื่อการเรียนรู้และผู้เรียน
- Interactive Video เป็นวิดีโอประเภทหนึ่งที่ผู้สอนสามารถกำหนดให้ผู้เรียนโต้ตอบกับโปรแกรมได้ในระหว่างการดูวิดีโอ เช่น โปรแกรมจะหยุดเล่นเพื่อให้ผู้เรียนต้องตอบคำถามที่ผู้สอนตั้งไว้ หากตอบถูกโปรแกรมจะเล่นวิดีโอต่อไป แต่หากตอบผิดโปรแกรมจะกำหนดให้ผู้เรียนย้อนไปดูวิดีโอในช่วงที่กำหนดใหม่อีกครั้ง เป็นต้น ตัวอย่าง https://edpuzzle.com/media/5d86191d24ce92409c3a3e64 โปรแกรมที่สนับสนุนการทำ Interactive Video มีดังนี้
- Edpuzzle
- NearPod
- h5p.org
- ISEAZY
- Interactive Content เป็นการสร้างเนื้อหาบทเรียนให้สามารถโต้ตอบกับผู้เรียนได้ โดยนำสื่อมัลติมีเดียผสมผสานลงในเนื้อหาเพื่อให้เกิดความน่าสนใจในการเรียน รวมทั้งการใช้เครื่องมือดิจิทัลต่าง ๆ เป็นเครื่องมือเสริมการเรียนรู้ เช่น
- สร้างเนื้อหาบทเรียนในรูปแบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์แบบมีปฏิสัมพันธ์ (Interactive E-Book)
- สร้างแบบสำรวจออนไลน์ (Online Survey) เพื่อเก็บข้อมูลเบื้องต้นของผู้เรียน
- กำหนดให้มีแบบทดสอบออนไลน์ (Online Quizzes) ทั้งก่อนเรียนและหลังเรียน
- สร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันระหว่างผู้เรียนหรือผู้สอน โดยใช้ (Online Discussion Board)