การสังเกตพฤติกรรม

การสังเกตพฤติกรรมเป็นวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการติดตามดูพฤติกรรมที่ผู้เรียนแสดงออกหรือตอบสนองต่อกิจกรรมหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดและไม่ขัดจังหวะการเรียนรู้ การทำงาน หรือการคิดของผู้เรียน โดยอาศัยประสาทสัมผัสและการรับรู้ของผู้สังเกต และทำการสังเกตอย่างมีจุดประสงค์ที่ชัดเจนว่าต้องการสังเกตอะไรและประเด็นใด เพื่อทำความเข้าใจถึงการกระทำ (Acts) และพฤติกรรมของนักเรียนว่ามีการแสดงออกอะไรและอย่างไรบ้าง สะท้อนให้เห็นถึงแบบแผนของการกระทำหรือกิจกรรม (Activities) หรือมีเบื้องหลังของเหตุผลและวิธีการคิดอย่างไร ลักษณะและรูปแบบความสัมพันธ์ (Relationship) ที่เกิดขึ้นระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียนหรือผู้เรียนกับครูผู้สอน การมีส่วนร่วม (Participation) ในพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน ความตั้งใจและความเอาใจใส่ของผู้เรียนที่มีต่อการเรียนหรือการปฏิบัติกิจกรรม ตลอดจนสภาพสังคมหรือสถานที่ (Setting) ที่เป็นตัวกำหนดสภาพแวดล้อมหรือบรรยากาศทั้งภายในและภายนอกห้องเรียน

การสังเกตสามารถแบ่งได้หลายประเภทตามเกณฑ์ต่าง ๆ อาทิ รูปแบบของการสังเกต ที่ผู้สังเกตสามารถกำหนดโครงสร้างหรือพฤติกรรมที่ต้องการสังเกตไว้อย่างชัดเจนทั้งประเด็นหลักและประเด็นรอง หรือการสังเกตแบบไม่มีโครงสร้างที่เป็นการสังเกตแบบปลายเปิดที่มิได้เจาะจงประเด็นใดประเด็นหนึ่ง การมีส่วนร่วมของผู้สังเกต โดยผู้สังเกตเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมเหตุการณ์นั้น ๆ หรือเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่ต้องการสังเกต หรือผู้สังเกตแยกตัวออกจากผู้ถูกสังเกตโดยไม่เข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมเหตุการณ์ แต่เป็นเพียงบุคคลภายนอกที่ทำการสังเกตพฤติกรรมโดยมิให้ผู้ถูกสังเกตรู้ตัวว่ากำลังถูกสังเกตพฤติกรรม วิธีการสังเกต ที่ผู้สังเกตทำการสังเกตพฤติกรรมได้โดยตรงจากสภาพการณ์หรือสถานการณ์จริง หรือเป็นการสังเกตทางอ้อมที่ได้จากการสังเกตหลักฐานหรือร่องรอยอื่น ๆ หรือการศึกษาเอกสาร ที่ช่วยสะท้อนถึงพฤติกรรมที่ต้องการ

ในการสังเกตผู้สังเกตต้องเตรียมความพร้อมก่อนที่จะทำการสังเกต ทำความเข้าใจถึงรายละเอียดของประเด็นที่ต้องการสังเกตอย่างครบถ้วน วางแผนเพื่อกำหนดวิธีการที่เหมาะสม ไม่ควรสังเกตหลายด้าน หลายคุณลักษณะพร้อม ๆ กัน อย่างไรก็ตามผลที่ได้จากการสังเกตควรมีวิธีการตรวจสอบความเชื่อมั่น เพื่อให้ผลการสังเกตที่ได้มีความน่าเชื่อถือ สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลเสริมหรือเพิ่มเติมข้อค้นพบที่มีอยู่ รวมถึงสนับสนุนหรือหักล้างข้อมูลที่ได้จากการเก็บรวบรวมด้วยวิธีอื่น เช่น การสัมภาษณ์ การใช้แบบสอบถาม เป็นต้น นอกจากนี้ผู้สังเกตสามารถใช้เครื่องมือเพื่อช่วยในการสังเกต เช่น แบบบันทึกการสังเกต แบบประเมิน แบบตรวจสอบรายการ สมุดจดบันทึก กล้องถ่ายรูป เครื่องบันทึกเสียง เครื่องถ่ายวิดีโอ เป็นต้น เพื่อบันทึกผลทันทีในขณะที่สังเกตเพื่อป้องกันการลืมหรือการได้รับอิทธิพลจากการสังเกตภายหลัง

ตัวอย่าง แบบสังเกต

ตัวอย่าง แบบสังเกตในลักษณะแบบตรวจสอบรายการ

หมายเหตุ ช่องตรวจสอบรายการอาจใช้คำว่ามี/ไม่มี ใช่/ไม่ใช่ มาก/ปากลาง/น้อย

ในวิถีใหม่ (New Normal) ผู้สอนสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการสังเกตพฤติกรรมของผู้เรียน

  1. Google Hangout Meets เป็นแอปพลิเคชันหนึ่งของ G Suite for Education (Google App) ผู้สอนสามารถแชร์หน้าจอส่วนตัว PowerPoint Slide หรือไฟล์เอกสารระหว่างการจัดการเรียนการสอนได้ โดยไม่จำกัดเวลาในการใช้งานต่อครั้ง เข้าใช้งานผ่าน Browser โดยไม่ต้องลงโปรแกรม ตลอดจนการสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนและผู้สอนผ่านวิดีโอ (Video Conference) สามารถบันทึกวิดีโอขณะทำการเรียนการสอนได้
  2. Microsoft Teams เป็นโปรแกรมที่เป็นบริการหนึ่งของ Office 365 ที่สามารถใช้ประชุมออนนไลน์ (Conference) หรือการเรียนการสอนออนไลน์ได้ สามารถแชร์หน้าจอส่วนตัว PowerPoint ไฟล์เอกสารระหว่างการบรรยายหรือการอบรม การใช้ช่องทางแชทในการพูดคุยโต้ตอบ มีระบบ Whiteboard ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นกระดาน ที่สามารถเปิดให้ผู้ใช้งานร่วมกันระดมความคิด หรือร่วมกันทำงานเป็นกลุ่ม
  3. WebEx Meetings เป็นโปรแกรม Web Conference ที่ใช้ในการ Con – Call Meeting ที่สามารถใช้ในการเรียนการสอนออนไลน์ สามารถมองเห็นไฟล์หรือเอกสารจากเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้สอน รวมถึงภาพวิดีโอและการบันทึก สามารถพูดคุยโต้ตอบกันได้ รวมถึงการเขียนบนหน้าจอ รองรับการใช้งานทั้งผ่านคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน