การประเมินภาคปฏิบัติ

Performance assessment

การประเมินภาคปฏิบัติ เป็นการวัดความสามารถในการปฏิบัติงานของผู้เรียนภายใต้สภาพการณ์และเงื่อนไขที่สอดคล้องกับสภาพจริง โดยพิจารณาจากกระบวนการทำงานและคุณภาพของงานหรือกิจกรรมที่ผู้สอนมอบหมายให้ผู้เรียนปฏิบัติ โดยใช้เกณฑ์การประเมินที่สร้างขึ้นจากมิติความสำคัญของคุณลักษณะด้านต่าง ๆ ของผลงานนั้น เป็นกระบวนการที่ใช้ในเนื้อหาทางทฤษฎี กระบวนการและผลการปฏิบัติงานร่วมกับการประเมินพฤติกรรมที่ผู้เรียนแสดงออกในขณะปฏิบัติงาน โดยลักษณะสำคัญของการประเมินภาคปฏิบัตินั้น ต้องมีการปฏิบติงานหรือแสดงกระบวนการปฏิบัติ การปฏิบัติงานต้องอาศัยกลไกการทำงานของอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่ประสานสัมพันธ์กัน การปฏิบัติงานควรมีการกระทำซ้ำบ่อยครั้ง และการปฏิบัติงานเป็นกระบวนการทำให้เกิดการเรียนรู้

การประเมินด้วยวิธีนี้ช่วยทำให้ทราบถึงผลการพัฒนาของผู้เรียน โดยผู้สอนจะต้องกำหนดจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติ ระบุเกณฑ์การประเมิน กำหนดวิธีการประเมินเพื่อตัดสินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน เครื่องมือที่ใช้วัดพฤติกรรมด้านทักษะพิสัยมีอยู่หลายชนิด อาทิ แบบตรวจสอบรายการ แบบสังเกต มาตรประมาณค่า การประเมินผลการปฏิบัติงานด้วยแฟ้มสะสมผลงาน การเลือกใช้เครื่องมือชนิดใดนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะงานที่ต้องการตรวจสอบ โดยพิจารณาให้เหมาะสมและใช้วิธีการเก็บข้อมูลที่หลากหลาย มีเกณฑ์การให้คะแนน ที่แสดงระดับคุณภาพและมีคำอธิบายแต่ละระดับปฏิบัติการตามแนวทางของรูบริค (Rubrics) การประเมินภาคปฏิบัติผู้สอนต้องเตรียมสิ่งสำคัญ 2 ประการ คือ 1) ภาระงาน (Tasks) หรือ กิจกรรม (Activities) ที่ให้ผู้เรียนปฏิบัติ เช่น การทำโครงการหรือโครงงาน การสำรวจ การนำเสนอ การทดลองทางวิทยาศาสตร์ การจัดนิทรรศการ การแสดงละคร เป็นต้น และ 2) เกณฑ์การให้คะแนน (Scoring Rubrics) ที่ใช้ในการประเมินการปฏิบัติ

เครื่องมือที่ใช้ประเมินภาคปฏิบัติ มุ่งวัด 3 ลักษณะ ได้แก่ 1) วัดกระบวนการทำงาน 2) วัดผลงาน และ 3) วัดพฤติกรรมการปฏิบัติงาน โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. วัดกระบวนการทำงาน

ผู้สอนสามารถวัดกระบวนการทำงานของผู้เรียนจากคุณภาพขณะปฏิบัติงาน ซึ่งวัดจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นขณะปฏิบัติงาน ความคล่องแคล่วว่องไวในการปฏิบัติงาน การเลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมกับงานที่ปฏิบัติ เวลา วัดจากเวลาที่ใช้ในการปฏิบัติงานน้อย ทักษะการปรับปรุงงาน วัดจากการลดขั้นตอนการทำงานให้สั้นลง ความปลอดภัยในการทำงาน วัดจากความปลอดภัยในการใช้เครื่องมือ จำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการทำงาน ความสิ้นเปลืองทรัพยากร วัดจากจำนวนที่ใช้วัสดุเกิน

  • วัดผลงาน

ผู้สอนสามารถวัดผลงานของผู้เรียนจากคุณภาพของผลงาน วัดจากคุณภาพสอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐาน จุดดี จุดเด่นของผลงาน ความเหมาะสมในการนำเอาไปใช้ และลักษณะภายนอกที่กำหนด ปริมาณงาน วัดจากปริมาณของผลผลิตที่ทำได้ภายในเวลาที่กำหนด ทักษะการปรับปรุงงาน วัดจากพัฒนาการของผลงานในเชิงคุณภาพและปริมาณ ความปลอดภัยของผลงาน วัดจากระดับความปลอดภัยของผลผลิตเมื่อนำไปใช้ ความสิ้นเปลือง วัดจากจำนวนชิ้นงานที่ทำแล้วใช้ไม่ได้หรือยอมรับไม่ได้

  • คุณลักษณะที่ใช้วัดพฤติกรรมการปฏิบัติงาน

ผู้สอนสามารถวัดคุณลักษณะที่ใช้วัดพฤติกรรมการปฏิบัติงานของผู้เรียนจากความตั้งใจในการทำงาน กระตือรือร้นในการทำงาน ให้ความร่วมมือในการทำงานกลุ่ม ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น  ความร่วมมือในการแก้ปัญหาการทำงานในกลุ่ม

เครื่องมือที่ใช้ประเมินภาคปฏิบัติมีหลายชนิดผู้สอนอาจปรับเปลี่ยนไปตามลักษณะงานหรือกิจกรรมที่ต้องการตรวจสอบ ส่วนใหญ่แล้วการประเมินภาคปฏิบัติต้องอาศัยวิธีการสังเกตเป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น การประเมินภาระงานหรือกิจกรรมที่เน้นขั้นตอนการปฏิบัติและผลงาน ต้องสังเกตและประเมินวิธีการทำงานที่เป็นขั้นตอนและผลงานของผู้เรียน การประเมินภาระงานหรือกิจกรรมที่มุ่งเน้นการสร้างลักษณะนิสัย ต้องสังเกต จดบันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับผู้เรียน การประเมินภาระงานที่เน้นผลผลิตมากกว่ากระบวนการขั้นตอนการทำงาน ผู้สอนต้องสร้างเครื่องมือเพื่อใช้ประกอบการประเมิน เป็นต้น โดยเครื่องมือที่ใช้ในการบันทึกการสังเกตอาจเป็นแบบตรวจสอบรายการ มาตรประมาณค่า แบบสังเกตพฤติกรรม แบบบันทึกพฤติกรรม แบบบันทึกผลการปฏิบัติ เป็นต้น

ตัวอย่างเครื่องมือประเมินภาคปฏิบัติ

แบบตรวจสอบรายการ เรื่อง การตอนกิ่ง

ชื่อ..............................................................................................................วัน เดือน ปี.................................

หัวข้อ การขยายพันธุ์พืชด้วยการตอนกิ่ง    สถานการณ์ ฝึกปฏิบัติตอนกิ่งรายบุคคล

รายการที่สังเกตถูกต้อง/ผ่านไม่ถูกต้อง/แก้ไข
1. การเตรียมเครื่องมือตอนกิ่ง  
2. การเลือกกิ่งพันธุ์  
3. การควั่นกิ่งพันธุ์  
4. การหุ้มกิ่ง  
5. การเก็บเครื่องมือตอนกิ่ง  
6. ผลงาน  
สรุป  

สิ่งสำคัญอีกหนึ่งประการของการประเมินภาคปฏิบัติ คือ การกำหนดเกณฑ์การให้คะแนน(Rubrics) ที่ใช้ในการวิเคราะห์ผลงานหรือกระบวนการที่ผู้เรียนได้พยายามสร้างขึ้น โดยทั่วไปแล้วการประเมินผลงานของนักเรียน จะประเมินด้วยกัน 2 ลักษณะ คือ การประเมินผลงานที่ได้จากกระบวนการของนักเรียน และกระบวนการที่นักเรียนใช้เพื่อให้เกิดผลงาน ซึ่งการประเมินลักษณะใดก็ตามขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายในการเรียนรู้ ในการประเมินผู้ประเมินจะต้องตัดสินคุณภาพของผลงานหรือกระบวนการปฏิบัติของผู้เรียนแต่ละคนที่มีระดับแตกต่างกัน ดังนั้นองค์ประกอบที่สำคัญของเกณฑ์การให้คะแนน(Rubrics) ควรจะต้องมีอย่างน้อย 1 คุณลักษณะหรือ 1 มิติที่เป็นพื้นฐานในการตัดสินผู้เรียน การนิยามและยกตัวอย่างจะต้องมีความชัดเจนในแต่ละคุณลักษณะหรือมิติ มาตราการให้คะแนนจะต้องเป็นอัตราส่วนในแต่ละคุณลักษณะหรือมิติ และจะต้องมีมาตรฐานที่เด่นชัดในแต่ละระดับของการให้คะแนน ซึ่งขั้นตอนและกระบวนการสร้างเกณฑ์การให้คะแนน (Rubrics) โดยมีรายละเอียดดังนี้

1)  การออกแบบเกณฑ์การให้คะแนน (Rubrics) ในแต่ละมิติ ควรประเมินระดับผลงานหรือกระบวนการที่นักเรียนปฏิบัติ โดยรวมองค์ประกอบที่สำคัญของกระบวนการคิดที่เกี่ยวข้อง

2)  ตรวจสอบว่าภาระงาน (Tasks) ที่มอบหมายให้ผู้เรียนปฏิบัติ จะให้สารสนเทศที่จำเป็นต่อความเที่ยงตรงของคะแนน

3) พิจารณาปรับเปลี่ยนภาระงาน (Tasks) เพื่อเพิ่มความสนใจของผู้เรียนหรือสารสนเทศ

4) ในการประเมินจะต้องรวมภาระงาน (Tasks) เข้าไปในเกณฑ์การให้คะแนน (Rubrics) ผลลัพธ์ของการเรียนรู้ของผู้เรียน และการใช้ทักษะการคิดที่ซับซ้อน

5) พิจารณาน้ำหนักของเกณฑ์การประเมินที่มุ่งเน้นความสำคัญที่แตกต่างกันในแต่ละมิติ

6) ผู้สอนควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเกณฑ์การให้คะแนน (Rubrics)

7) สะท้อนผลการประเมินให้กับผู้เรียน โดยมุ่งเน้นการสะท้อนถึงความเชี่ยวชาญและสิ่งที่ผู้เรียนได้เรียนรู้

ตัวอย่าง เกณฑ์การให้คะแนน (Rubrics) แบบองค์รวม (Holistic) เพื่อประเมินทักษะการเขียนรายงานเรื่องประวัติการเลี้ยงโคนม

คะแนนคำอธิบาย
5รายงานมีความครอบคลุม และชัดเจนในทุกประเด็น คือ ผู้ทำการเลี้ยง เวลา สถานที่ พันธุ์ ปัญหา และแนวทางการแก้ไขปัญหา
4รายงานมีความครอบคลุม แต่ไม่ชัดเจนในบางประเด็นต่อไปนี้ ผู้ทำการเลี้ยง เวลา สถานที่
พันธุ์ ปัญหา และแนวทางการแก้ไขปัญหา
3รายงานขาดความครอบคลุม 1 – 2 ประเด็น จากรายการต่อไปนี้ ผู้ทำการเลี้ยง เวลา สถานที่
พันธุ์ ปัญหา และแนวทางการแก้ไขปัญหา
2รายงานขาดความครอบคลุม 3 ประเด็น จากรายการต่อไปนี้ ผู้ทำการเลี้ยง เวลา สถานที่ พันธุ์ ปัญหา และแนวทางการแก้ไขปัญหา
1รายงานขาดความครอบคลุมมากกว่า 3 ประเด็น จากรายการต่อไปนี้ ผู้ทำการเลี้ยง เวลา สถานที่ พันธุ์ ปัญหา และแนวทางการแก้ไขปัญหา

ตัวอย่าง เกณฑ์การให้คะแนน (Rubrics) แบบแยกองค์ประกอบ (Analytic Rubrics) เพื่อประเมินทักษะการนำเสนอหน้าชั้นเรียน

ประเด็น3 คะแนน2 คะแนน1 คะแนน
เนื้อหามีเนื้อหาครบถ้วนสมบูรณ์มีเนื้อหาส่วนใหญ่ถูกต้องมีเนื้อหาบางส่วนถูกต้อง
ความสามารถในการนำเสนอน่าสนใจ มีสื่ออุปกรณ์ครบค่อนข้างน่าสนใจ มีสื่ออุปกรณ์ประกอบไม่น่าสนใจ และไม่มีสื่ออุปกรณ์
การตอบคำถามถูกต้องตรงประเด็นส่วนใหญ่ถูกต้องถูกต้องบางส่วน
บุคลิกภาพพูดจาฉะฉาน ชัดถ้อย
ชัดคำ เชื่อมั่นสูง
พูดจาคล่องแคล่ว มีความเชื่อมั่นพูดจาติดขัด ไม่ค่อยมีความเชื่อมั่น
เวลาทันตามเวลาที่กำหนดพอดีใกล้เคียงกับเวลาที่กำหนด คลาดเคลื่อนไม่เกิน 5 นาทีไม่สอดคล้องกับเวลาที่กำหนด คลาดเคลื่อนมากกว่า 5 นาที

ผู้สอนสามารถประยุกต์ใช้เครื่องมือการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ โดยเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมเข้ามาช่วยในการประเมินภาคปฏิบัติ ได้แก่  Recap, Lino โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. Recap เป็นแอปพลิเคชันที่เป็นพื้นที่ออนไลน์เพื่อการอภิปรายถามตอบกับผู้เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา
  2. Lino เป็นแอปพลิเคชันที่ผู้เรียนสามารถเข้าไปตอบคำถามในลักษณะของโน๊ต (Sticky Note) โดยจุดเด่นของแอปพลิเคชันนี้ คือ จะแสดงคำตอบของผู้เรียนทุกคำตอบ ไม่ว่าจะซ้ำหรือไม่ซ้ำ รูปแบบการตอบก็ทำได้ทั้งแบบที่เป็นข้อ ๆ หรือ bullet point หรือตอบแบบสั้นตอบแบบยาวก็สามารถทำได้