การใช้แฟ้มสะสมงาน

Portfolio

การประเมินแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) เป็นแหล่งสะสมผลงาน ชิ้นงาน หรือหลักฐานที่เป็นเครื่องแสดงความรู้ ความสามารถ และทักษะ เพื่อสะท้อนความก้าวหน้าและความสำเร็จของผู้เรียน โดยแฟ้มสะสมผลงานมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุจุดมุ่งหมายของผู้เรียน ตลอดจนเป็นเครื่องมือสำหรับผู้สอน เพื่อตีค่าความสามารถที่แท้จริงของผู้เรียน นอกจากนี้แฟ้มสะสมผลงานยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาการเรียนรู้ของผ้สอน และพัฒนาทักษะความสามารถของนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ในการประเมินแบบสรุปรวม (Summative Assessment)

           แฟ้มสะสมผลงานสามารถใช้ในจุดมุ่งหมายต่าง ๆ ในชั้นเรียน เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเรียนการสอนได้อย่างดี เพื่อติดตามความก้าวหน้าของการเรียนรู้ของผู้เรียนในทุกระยะที่มีการเรียนการสอน เนื่องจากแฟ้มสะสมผลงานเป็นแหล่งรวมผลงานของนักเรียนทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ช่วยให้กำกับพัฒนาการทางการเรียนของผู้เรียน และผู้เรียนใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินตนเอง ดังนั้นแฟ้มสะสมผลงาน จึงเป็นวิธีการที่ใช้ประเมิน

          แฟ้มสะสมผลงานสามารถแบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ 1) แฟ้มสะสมงานที่ดีที่สุด มุ่งเน้นการนำเสนอเพื่อการประเมินผลผลิตขั้นสุดท้ายที่ดีที่สุด ผู้เรียนจะต้องสร้างสรรค์แฟ้มสะสมผลงานที่ดีที่สุด เพื่อประเมินตามรายวิชาหรือเพื่อรับรองหรือจัดลำดับชั้นเรียน 2) แฟ้มสะสมงานที่แสดงความก้าวหน้าของผู้เรียน โดยผู้เรียนต้องมีผลงานในช่วงเวลาต่าง ๆ ที่แสดงถึงความก้าวหน้า ดังนั้นแฟ้มสะสมผลงานในลักษณะนี้ จึงสนใจขั้นตอนการทำผลงาน ซึ่งแนวทางในการจัดทำแฟ้มสะสมผลงาน มีดังนี้

          1. กำหนดวัตถุประสงค์ของแฟ้มสะสมผลงาน ต้องการสะท้อนความก้าวหน้าและความสำเร็จของผู้เรียนในเรื่องใดด้านใด อาจพิจารณาจากตัวชี้วัด/มาตรฐานการเรียนรู้ รายวิชา กลุ่มสาระการเรียนรู้ และระดับเป็นตัวตั้ง

          2. วางแผนการจัดทำแฟ้มสะสมผลงานที่เน้นการจัดทำชิ้นงาน กำหนดเวลาของการจัดทำแฟ้มสะสมงาน และเกณฑ์การประเมิน โดยผู้เรียนและผู้สอนอาจกำหนดร่วมกันก่อนเริ่มการจัดทำแฟ้มสะสมผลงาน

          3. จัดทำแผนการจัดทำแฟ้มสะสมงาน และดำเนินการตามแผนที่กำหนด ผู้เรียนมีบทบาทเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนผู้สอนมีบทบาทเป็นผู้ให้ข้อเสนอแนะ

          4. ประเมินชิ้นงานเพื่อการพัฒนาและปรับปรุง การประเมินนี้ควรมีลักษณะประเมินแบบมีส่วนร่วม และเปิดโอกาสให้ผู้เรียน เพื่อน ผู้สอน และผู้ปกครองและผู้เกี่ยวข้อง เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมิน

          5. คัดเลือกชิ้นงาน ประเมินชิ้นงานตามเงื่อนไขที่ผู้สอนและผู้เรียร่วมกันกำหนด และดำเนินการคัดเลือกชิ้นงานเป็นระยะ

          6. นำชิ้นงานที่คัดเลือกแล้วจัดทำเป็นแฟ้มที่สมบูรณ์ ประกอบด้วยหน้าปก คำนำ สารบัญ ชิ้นงาน แบบประเมินแฟ้มสะสมผลงาน และเอกสารที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ตามความเหมาะสม

          7. สะท้อนความรู้สึกและความคิดเห็นต่อชิ้นงานหรือแฟ้มสะสมผลงานนั้น   โดยผู้เรียนอาจเขียนได้อย่างอิสระหรือผู้สอนอาจเป็นผู้กำหนดกรอบการสะท้อนตามวัตถุประสงค์

          8. จัดแสดงแฟ้มสะสมงานและชิ้นงานของผู้เรียนเมื่อสิ้นภาคเรียน/ปีการศึกษา หรือในโอกาสต่าง ๆ

          การประเมินแฟ้มสะสมผลงาน ต้องพิจารณาวัตถุประสงค์ในการจัดทำแฟ้มสะสมผลงานเป็นหลัก เพื่อกำหนดเกณฑ์การประเมินแฟ้มสะสมผลงานที่เหมาะสม

ตัวอย่าง ตัวอย่างเกณฑ์การให้คะแนนแบบองค์รวมเพื่อประเมินพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนจากแฟ้มสะสมผลงาน

พัฒนาการคุณลักษณะของแฟ้มสะสมผลงาน
ก้าวหน้ายอดเยี่ยม (4 คะแนน)แสดงความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง จากตอนเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน พัฒนาจากการอ่าน/เขียนแคบ ๆ ไปสู่ความสามารถในการอ่าน/เขียนในหัวข้อที่หลากหลาย สามารถสังเกตและให้คำแนะนำต่อการเปลี่ยนแปลงในงานของตนเองทั้งในชั้นเรียนและนอกชั้นเรียน
ก้าวหน้ามาก (3 คะแนน)ผู้เรียนได้ขยายการใช้ภาษาและรู้คำศัพท์ที่กว้างขึ้น สามารถทำงานได้โดยอิสระในการอ่าน/เขียนมากยิ่งขึ้น งานมีคุณภาพต่างจากระยะแรก แต่ไม่เท่าประเภทก้าวหน้ายอดเยี่ยม
ก้าวหน้าบ้าง (2 คะแนน)งานเขียนของผู้เรียนสอดคล้องกันตลอดและเข้าใจง่ายแต่เนื้อเรื่องและเนื้อหายังคงเหมือนเดิม ผู้เรียนอ่านเพื่อทำความเข้าใจและพอใจในปริมาณที่ไม่มากนัก มีชิ้นงานที่หลากหลายน้อยและประยุกต์สู่ชีวิตประจำวันได้น้อย
ก้าวหน้าน้อย (1 คะแนน)พอร์ตโฟลิโอมีชิ้นงานน้อย ก้าวหน้าน้อยด้านการอ่านเขียน ความตั้งใจในการอ่าน/เขียนมีน้อย
ไม่ก้าวหน้า (0 คะแนน)พอร์ตโฟลิโอไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะประเมินเป็นเพียงแฟ้มรวมงาน

          ผู้สอนสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการช่วยในการวัดประเมินการเรียนรู้ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสิ่งที่มุ่งวัด ยกตัวอย่างเช่น Padlet เป็นโปรแกรมในลักษณะกระดานข่าว (Bulletin board) ที่ผู้เรียนงานสามารถสร้างและแบ่งปันเนื้อหาหรือความคิดเห็นร่วมกันกับผู้อื่นได้ ดังนั้นจึงสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการระดมสมอง แสดงความคิดเห็น อภิปราย แลกเปลี่ยนความรู้ข้อมูลข่าวสาร สะท้อนความคิด สรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้ในคาบเรียน บันทึกอนุทิน (Diary) แผนผังความคิด หรือแฟ้มผลงาน โปรแกรมนี้ช่วยสะท้อนให้ผู้สอนได้สารสนเทศเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจในบทเรียน หรือกระบวนการทางความคิดของผู้เรียนได้อย่างทันที