การใช้คำถามเป็นวิธีการที่ช่วยให้ผู้สอนสามารถประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ง่ายที่สุด โดยเฉพาะด้านความรู้และความคิดของผู้เรียน วิธีการนี้จึงเป็นวิธีการที่ผู้สอนมักใช้ในการจัดการเรียนรู้ แต่โดยปกติแล้วผู้สอนมักตั้งคำถามที่เป็นความรู้ความจำ เพราะสามารถตั้งคำถามได้ง่ายตามเนื้อหาที่สอน แต่คำถามเหล่านั้นมิใช่เป็นคำถามที่ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง ดังนั้นผู้สอนควรปรับคำถามที่ใช้เพื่อพัฒนาระดับการคิดของผู้เรียน ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งมากขึ้น ตลอดจนสร้างความรู้ ความเข้าใจ และพัฒนาความคิดใหม่ ๆ โดยกระบวนการถามจะช่วยขยายทักษะการคิด ทำความเข้าใจให้กระจ่าง ได้ข้อมูลป้อนกลับทั้งด้านการเรียนการสอน ก่อให้เกิดการทบทวน การเชื่อมโยงระหว่างความคิดต่าง ๆ
ดังนั้นการใช้คำถามที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ จตุภูมิ เขตจัตุรัส. 2560: 19; อ้างอิงจาก Clarke. 2005) ได้เสนอวิธีการฝึกสร้างคำถามให้มีประสิทธิภาพ 5 วิธี ได้แก่ 1) ให้คำตอบที่เป็นไปได้หลากหลาย โดยเปลี่ยนการถามแบบความจำให้เป็นคำถามที่ต้องใช้การคิด ตัดสอนใจว่าคำตอบใดถูก หรือใกล้เคียงที่สุดเพราะเหตุใด และที่ไม่ถูกต้องเพราะเหตุใด 2) เปลี่ยนคำถามประเภทความจำให้เป็นคถามประเภทที่ผู้เรียนต้องแสดงความคิดเห็นพร้อมเหตุผล การใช้วิธีนี้จะต้องให้ผู้เรียนได้อภิปรายกัน ผู้เรียนต้องใช้การคิดที่สูงขึ้นกว่าวิธีแรก เพราะผู้เรียนจะต้องยกตัวอย่างสนับสนุนความเห็นของตน การฝึกด้วยวิธีการนี้บ่อย ๆ จะเป็นการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้ฟังที่ดี มีจิตใจเปิดกว้างพร้อมรับฟัง และเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นโดยผ่านกระบวนการอภิปราย 3) หาสิ่งตรงข้ามกัน โดยหาสิ่งที่ใช่/ถูก สิ่งที่ไม่ใช่/ผิด วิธีการนี้ใช้ได้ดีกับเนื้อหาที่เป็นข้อท็จจริง และช่วยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนคิดและอภิปรายมากกว่าเพียวการถามว่าทำไม โดยไม่มีการเปรียบเทียบกัน 4) ให้คำตอบประเด็นสรุปแล้วตามด้วยคำถามให้คิด เป็นการให้ผูเ้รียนต้องอธิบายขยายความเพิ่มเติม 5) ตั้งคำถามจากจุดยืนที่เห็นต่าง เป็นวิธีที่ต้องใช้ความสามารถมากทั้งผู้สอนและผู้เรียน เพราะมีประเด็นที่ต้องอภิปรายโต้แย้งเชิงลึก
ตัวอย่าง คำถามที่ใช้เพื่อพัฒนาระดับการคิดของผู้เรียน
ชนิดคำถาม | เป้าหมาย | ตัวอย่างคำถาม |
สำรวจ | ตรวจหาข้อเท็จจริงและความรู้พื้นฐาน | มีหลักฐานจากผลการวิจัยสนับสนุนอย่างไรบ้าง |
ท้าทาย | สำรวจหาข้อสมมติฐาน ข้อสรุป และข้อตีความ | มีอย่างอื่นอีกบ้างไหม ที่เราควรทำ |
เปรียบเทียบ | ถามเพื่อเปรียบเทียบประเด็นหลัก แนวความคิด หรือประเด็น | เปรียบเทียบระหว่าง...........กับ..........เป็นอย่างไร |
วินิจฉัย | แจกแจงหาแรงกระตุ้นหรือสาเหตุ | ทำไม.......................... |
ถามหาการดำเนินการ | หาข้อสรุปหรือข้อปฏิบัติ | เพื่อสนองต่อ...สิ่งที่.....ควรทำคือ |
เหตุและผล | ถามความสัมพันธ์เชิงเหตุและผลระหว่างแนวความคิด การกระทำ | ถ้า.....เกิดขึ้น จะเกิดอะไรขึ้นตามมา |
การขยายผล | ขยายการอภิปราย | มีแนวทางหรือความคิดเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง |
สมมติฐาน | เสนอเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงหรือประเด็น | สมมติว่า...เกิดขึ้น ผลจะเป็นอย่างเดิมหรือไม่ |
ลำดับความสำคัญ | เสาะหาประเด็นที่สำคัญที่สุด | จากที่เราหารือกันมา เรื่องไหนสำคัญที่สุด |
สรุป | ให้ข้อสังเคราะห์ | เราได้ข้อสรุปอย่างไรบ้าง |
ปัญหา | ท้าทายผู้เรียนให้หาทางแก้ปัญหา สมมติ หรือปัญหาจริง | จะเกิดอะไรขึ้น ถ้า........(ควรมีหลายคำตอบ) |
ตีความ | ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจความหมายหลายความหมายของแต่ละเรื่อง | จากสิ่งที่เราได้เห็น ได้ยิน หรือได้อ่าน ตีความได้ว่าอย่างไร |
ประยุกต์ | ตรวจหาความสัมพันธ์และขอให้ผู้เรียนเชื่อมโยงทฤษฎีเข้ากับปฏิบัติ | เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว จะทำอย่างไรต่อไป |
ประเมิน | ให้ผู้เรียนได้ประเมินและตัดสินใจ | อันไหนดีกว่า ข้อเปรียบเทียบนี้สำคัญอย่างไร จะทำอะไรต่อ |
ตรวจสอบความแม่นยำ | ให้ผู้เรียนได้ตรวจสอบความถูกต้องของถ้อยคำ ข้อโต้แย้ง และข้อสรุป และเพื่อวิเคราะห์ความคิด และท้าทายสมมติฐานของตนเอง | เรารู้ได้อย่างไร ข้อมูลหลักฐานเป็นอย่างไร หลักฐานน่าเชื่อถิอแค่ไหน |
อย่างไรก็ตาม ผู้สอนสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นสื่อกลาง และเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการเรียนการสอน ตลอดจนการพัฒนาและปรับปรุงการเรียนรู้ของผู้เรียน เช่น โปรแกรม Blackboard Collaborative, Classdojo, Seesaw, Mentimeter เป็นต้น