การเขียนสะท้อนการเรียนรู้ เป็นวิธีการบันทึกข้อมูลอีกรูปแบบหนึ่งที่ให้ผู้เรียนเขียนตอบประเด็นคำถามที่ผู้สอนได้กำหนดขึ้น โดยสอดคล้องกับความรู้ เจตคติ และทักษะที่กำหนดตัวชี้วัด การเขียนสะท้อนการเรียนรู้นี้นอกจากทำให้ผู้สอนทราบความก้าวหน้าในผลการเรียนรู้แล้วยังใช้เป็นเครื่องมือประเมินพัฒนาการด้านทักษะการเขียน รวมถึงความคิดความรู้สึกซึ่งสอดคล้องกับการประเมินการเขียนสื่อความและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนได้อีกด้วย
ตัวอย่าง แบบเขียนสะท้อนการเรียนรู้
ในการเขียนสะท้อนการเรียนรู้ ผู้สอนสามารถเลือกใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือ โดยเลือกใช้โปรแกรมหรือเทคโนโลยี ไปประยุกต์ใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอนได้หลายลักษณะ ตามความพร้อมและบริบทในชั้นเรียน เช่น Padlet, Nearpod เป็นต้น โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. Padlet เป็นโปรแกรมในลักษณะกระดานข่าว (Bulletin board) ที่ผู้เรียนงานสามารถสร้างและแบ่งปันเนื้อหาหรือความคิดเห็นร่วมกันกับผู้อื่นได้ทั้งในลักษณะแบบประสานเวลาและต่างเวลากัน ไม่ว่าจะเป็นข้อความ รูปภาพเสียง วิดีโอ ลิงค์ของเว็บไซต์ หรือตำแหน่งของสถานที่ ด้วยการนำเสนอสิ่ง ที่ต้องการแบ่งปันลงบนกระดานข่าว ผู้เรียนทุกคนสามารถเห็นข้อมูลทั้งหมดบนกระดานได้พร้อมกันในทันที (Real time) โปรแกรม Padlet สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการระดมสมอง แสดงความคิดเห็น อภิปราย แลกเปลี่ยนความรู้
2. Nearpod เป็นแอปพลิเคชันสำหรับบริหารจัดการสื่อการเรียนการสอน ผู้สอนสามารถสร้างงานนำเสนอแบบมีปฏิสัมพันธ์ (Interaction) และส่งข้อมูลจากอุปกรณ์ของผู้สอนไปยังอุปกรณ์ของผู้เรียนได้ ใช้งานง่ายและสะดวก รองรับการใช้งานด้วยโทรศัพท์มือถือ แท็ยแล็ท คอมพิวเตอร์ เป็นต้น รวมถึงการสร้างแบบสอบถาม แบบประเมิน แบบฝึกหัด การบ้าน ให้ผู้เรียนได้ศึกษาเพิ่มเติม