Digital Tools

One Minute Paper

การเรียนรู้ด้วยการเขียนข้อความสั้นๆ

  • นิยามและความสำคัญ

การเรียนรู้ด้วยการเขียนข้อความสั้นๆ (One Minute Paper) เป็นเทคนิคการสอนที่กระตุ้นให้ผู้เรียนทบทวนและตรวจสอบความรู้ในเรื่องที่ได้เรียนรู้มาแล้ว กระตุ้นให้ผู้เรียนรู้สื่อสารความเข้าใจของตนเองออกมาให้คนอื่นรับรู้ โดยผู้สอนสามารถใช้เทคนิคการสอนนี้ก่อนเรียนเนื้อหาใหม่ หรือหลังจากเรียนเนื้อหาเสร็จสิ้นแล้ว

การเรียนรู้ด้วยการเขียนข้อความสั้นๆ (One Minute Paper) ช่วยให้ผู้เรียนตระหนักในความพร้อมและความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของตนเอง และช่วยให้ผู้เรียนได้ฝึกการจัดลำดับความคิด การสรุปประเด็นสำคัญ และการเขียนสื่อความที่กระชับตรงประเด็น

  • กระบวนการจัดการเรียนรู้

การเตรียมความพร้อม

          ผู้สอน

  1. ผู้สอนเตรียมคำถามปลายเปิดที่ง่ายต่อการอ่านทำความเข้าใจและการตอบคำถาม เช่น เขียน 3 สิ่งที่ได้เรียนรู้ในครั้งนี้ เขียนสิ่งที่ชื่นชอบหรือเข้าใจมากที่สุดในการเรียนรู้ครั้งนี้ เขียนสิ่งที่สับสนหรือยังไม่เข้าใจอย่างชัดเจนในการเรียนรู้ครั้งนี้ เป็นต้น ทั้งนี้การกำหนดคำถาม ผู้สอนต้องตระหนักว่าผู้เรียนมีเวลาในตอบคำถามเพียง 1 นาที อย่างไรก็ตามผู้สอนอาจกำหนดเวลาในการตอบมากกว่า 1 นาที ได้ หากผู้สอนต้องการให้ผู้เรียนเขียนตอบอย่างมีรายละเอียด หรือพบว่า ผู้เรียนไม่พร้อมในการใช้อุปกรณ์ในการตอบคำถาม หรือไม่พร้อมในการใช้ช่องทางการตอบคำถามที่ผู้สอนกำหนดไว้
  2. ผู้สอนเตรียมช่องทางการตอบคำถามของผู้เรียน เช่น Meeting Chat, Classroom Assessment, แอพพลิเคชั่น Nearpod, Socrative, Formative, Poll Everywhere, Mentimeter เป็นต้น และแจ้งให้ผู้เรียนทราบล่วงหน้า เพื่อให้ผู้เรียนเตรียมความพร้อมในการใช้งาน อย่างไรก็ตามผู้สอนควรเลือกช่องทางการตอบคำถามที่สะดวกต่อการใช้งานของผู้เรียนเป็นหลัก เพื่อลดความกังวลของผู้เรียน และช่วยให้ผู้เรียนมุ่งความสนใจไปที่การคิดหาคำตอบเป็นสำคัญ

          ผู้เรียน

  1. ผู้สอนให้ผู้เรียนทบทวนประเด็นสำคัญที่ได้เรียนรู้
  2. ผู้สอนให้ผู้เรียนศึกษาวิธีการใช้ช่องทางการตอบคำถามที่ผู้สอนกำหนด

          การจัดการเรียนรู้

  1. ผู้สอนชี้แจงวัตถุประสงค์การเรียนรู้ ลักษณะกิจกรรม ลักษณะคำตอบที่คาดหวัง (เช่น คำสำคัญ วลี ประโยค) และซักถามความเข้าใจของผู้เรียน
  2. ผู้สอนแจ้งคำถามแก่ผู้เรียน ทั้งด้วยวาจา และพิมพ์เป็นข้อความไว้ที่ช่องทางการตอบคำถาม
  3. ผู้สอนให้เวลาผู้เรียน 1 นาที หรือให้เวลาตามที่ผู้สอนกำหนดในการตอบคำถาม ด้วยการพิมพ์เป็นข้อความไว้ที่ช่องทางการตอบคำถามที่กำหนดไว้ พร้อมทั้งระบุชื่อนามสกุลของผู้เรียนอย่างชัดเจน เพื่อให้สะดวกต่อการให้ข้อมูลป้อนกลับ

การประเมินผล

ผู้สอน นำคำตอบของผู้เรียนมาเป็นแนวทางการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ หรือนำคำตอบของผู้เรียนอภิปรายร่วมกับผู้เรียน หรือให้ข้อมูลป้อนกลับแก่ผู้เรียน โดยหากคำตอบของผู้เรียนเป็นประเด็นส่วนบุคคล ผู้สอนควรให้ข้อมูลป้อนกลับรายบุคคล แต่หากเป็นความเข้าใจที่คล้ายคลึงกันของผู้เรียนส่วนใหญ่ ผู้สอนอาจให้ข้อมูลป้อนกลับในภาพรวมได้

ผู้เรียน ตรวจสอบคำตอบของตนเอง โดยเทียบกับคำตอบของเพื่อน เพื่อให้เห็นจุดเหมือน จุดต่าง และเป็นข้อมูลเพิ่มเติม หรือเป็นแผนสำหรับการพัฒนาการเรียนรู้ของตนเองในครั้งต่อไป

  • ข้อสังเกต

การเรียนรู้ด้วยการเขียนข้อความสั้นๆ (One Minute Paper) เป็นกลยุทธ์การประเมินผลการเรียนรู้ระหว่างการสอนที่ทำได้ง่าย ใช้เวลาน้อย และเป็นประโยชน์ทั้งกับผู้เรียนและผู้สอน แต่อย่างไรก็ตาม การกำหนดคำถามเดิมในทุกครั้ง ย่อมทำให้ผู้เรียนเบื่อหน่าย ดังนั้นผู้สอนจำเป็นต้องสร้างคลังคำถามไว้อย่างหลากหลาย เช่น คำถามเกี่ยวกับความความรู้ความเข้าใจ คำถามเกี่ยวกับทักษะ คำถามเกี่ยวกับคุณลักษณะ เป็นต้น หรืออาจมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ที่ผู้เรียนจะได้รับจากกิจกรรมนี้ หรืออาจมีการกำหนดคะแนน เพื่อจูงใจผู้เรียนให้ประเมินตนเองและตอบคำถามอย่างมีคุณภาพ

เครื่องมือดิจิทัลที่สามารถใช้ได้

การวัดผลการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้อง