Digital Tools

Gallery Walk

การเรียนรู้แบบเดิมชมผลงาน

  • นิยามและความสำคัญ

การเรียนรู้แบบเดิมชมผลงาน (Gallery Walk) เป็นเทคนิคการสอนที่กระตุ้นให้ผู้เรียนแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ หรือประสบการณ์ร่วมกัน โดยใช้ผลงานที่ผู้เรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้นเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอด และใช้กระดานสนทนาเป็นสื่อกลางในการรับคำติชมและข้อเสนอแนะจากผู้อื่น เพื่อนำข้อมูลป้อนกลับนั้นมาพัฒนาผลงานของกลุ่ม หรือเติมเต็มความรู้ความเข้าใจของตัวผู้เรียนเอง

การเรียนรู้แบบเดิมชมผลงาน (Gallery Walk) ช่วยให้ผู้เรียนได้ฝึกความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างผลงานให้ผู้อื่นเข้าได้ง่ายและครบถ้วน ได้ทบทวนผลงานของตนเอง และเปรียบเทียบผลงานของตนเองกับผลงานของผู้อื่น ได้ฝึกการประเมินเพื่อตัดสินใจให้คะแนนหรือให้ข้อมูลป้อนกลับอย่างสร้างสรรค์ รวมทั้งได้พัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีม ทักษะการสื่อสาร ทั้งการพูด การฟัง และการเขียน

  • กระบวนการจัดการเรียนรู้

การเตรียมความพร้อม

          ผู้สอน

  1. ผู้สอนเตรียมหัวข้อเรื่องที่ต้องการให้ผู้เรียนสร้างสรรค์ผลงาน เตรียมสื่อการเรียนรู้และแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นทรัพยากรให้ผู้เรียนได้สืบค้นประกอบการสร้างสรรค์ผลงาน
  2. ผู้สอนเตรียมช่องทางให้ผู้เรียนประชุมปรึกษาและสร้างสรรค์ผลงานแบบชั่วคราว โดยตั้งค่า Breakout Room ทั้งจำนวนห้อง เวลา ตามความหมาะสมกับหัวข้อเรื่องที่ได้รับมอบหมาย
  3. ผู้สอนเตรียมช่องทางการเผยแพร่ผลงานของผู้เรียน เช่น โพสต์ประกาศของห้องเรียนออนไลน์ แอพพลิเคชั่น Flipgrid, Padlet, Explain Everything, Jamboard เป็นต้น

          ผู้เรียน

  1. ผู้สอนให้ผู้เรียนทบทวนประเด็นสำคัญที่ได้เรียนรู้
  2. ผู้สอนให้ผู้เรียนรวมกลุ่มตามความสมัครใจ โดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้เรียนที่สนใจในหัวข้อเดียวกันรวมกลุ่มกัน
  3. ผู้สอนมอบหมายให้ผู้เรียนศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการเรียนรู้แบบเดิมชมผลงาน (Gallery Walk) และช่องทางการนำเสนอผลงานที่ผู้สอนกำหนด มาล่วงหน้า โดยผู้สอนควรมีเอกสารหรือสื่อวิดีทัศน์แนะนำสั้นๆ ให้ผู้เรียนได้ทำความเข้าใจด้วยตนเอง

          การจัดการเรียนรู้

ขั้นตอนที่ 1 การกำหนดหัวเรื่อง

ผู้สอนชี้แจงวัตถุประสงค์การเรียนรู้ ลักษณะกิจกรรม หัวข้อเรื่องในการสร้างสรรค์ผลงาน เกณฑ์การให้คะแนน และซักถามความเข้าใจของผู้เรียน

                    ขั้นตอนที่ 2 การระดมสมอง

  • ผู้สอนเปิดห้อง Breakout Room เพื่อให้ผู้เรียนพูดคุยปรึกษาหารือ ศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ และสร้างผลงานในลักษณะบอร์ดนิทรรศการ โดยแจ้งเวลาในการดำเนินกิจกรรมอย่างชัดเจน
    • ผู้สอนสุ่มเข้าห้อง Breakout Room เพื่อสังเกตพฤติกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และตั้งคำถามกระตุ้นชวนให้ผู้เรียนสืบค้นข้อมูล หรือมีส่วนร่วมในการทำงาน

                    ขั้นตอนที่ 3 การเดินชมผลงานและให้ข้อคิดเห็น

  • ผู้สอนชี้แจงกติกาการชมผลงาน ภาระงานที่ต้องทำระหว่างการชมผลงาน (ประกอบด้วย การบอกสิ่งที่ได้เรียนรู้จากผลงาน การให้คำชม การให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ การให้คะแนนผลงานตามเกณฑ์ประเมินผลงานที่กำหนด) ระยะเวลาในการชมนำเสนอของแต่ละกลุ่ม และซักถามความเข้าใจของผู้เรียน
    • ผู้สอนให้ตัวแทนกลุ่มแต่ละกลุ่ม โพสต์ผลงานของกลุ่มในช่องทางการนำเสนอผลงานที่ผู้สอนกำหนด โดยนำเสนอในรูปแบบสื่อวีดิทัศน์
    • ผู้สอนให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มชมผลงานของกลุ่มต่างๆ และปฏิบัติภาระงานที่ได้รับมอบหมาย
    • ผู้สอนสังเกตพฤติกรรมการชมผลงานและการให้ข้อมูลป้อนกลับของผู้เรียนแต่ละกลุ่ม กระตุ้นให้ผู้เรียนปฏิบัติภาระงานให้ครบถ้วน และแจ้งเตือนเรื่องเวลา

                    ขั้นตอนที่ 4 การสรุปกิจกรรม

  1. ผู้สอนให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มรวบรวมข้อมูลป้อนกลับที่กลุ่มอื่นๆ ให้ไว้ จากนั้นร่วมกันอภิปรายเกี่ยวกับข้อมูลที่ได้รับ โดยผู้สอนเน้นย้ำกับผู้เรียนให้เปิดใจและไตร่ตรองข้อมูลด้วยเหตุผล
    1. ผู้สอนให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มส่งตัวแทนกลุ่มนำเสนอมุมมองของกลุ่มที่มีต่อข้อมูลที่ได้รับ
    1. ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับพฤติกรรมการทำงานกลุ่ม การประเมินและการให้ข้อมูลป้อนกลับ เพื่อสรุปเป็นแนวทางการพัฒนาผลงานและพัฒนาตนเองต่อไป
    1. ผู้สอนสรุปประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา และเพิ่มเติมประเด็นที่ผู้เรียนยังไม่เข้าใจหรือยังเข้าใจไม่ครอบคลุม

การประเมินผล

                    ผู้สอน สามารถประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ได้จากการสังเกตพฤติกรรมความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของผู้เรียนรายบุคคล กระบวนการสร้างผลงาน การปฏิบัติตามขั้นตอนและข้อตกลงในการชมผลงาน และคุณภาพของผลงานจากการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม โดยพิจารณาตามเกณฑ์ที่ผู้สอนได้แจ้งกับผู้เรียนอย่างเคร่งครัด

                    ผู้เรียน ทำการสะท้อนคิดการเรียนรู้ (Reflection) ในประเด็นสำคัญ เช่น ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหา ทักษะที่ได้รับจากกิจกรรม แนวทางการนำความรู้และทักษะไปประยุกต์ใช้ เป็นต้น

  • ข้อสังเกต

          การเรียนรู้แบบเดิมชมผลงาน (Gallery Walk) ต้องอาศัยการกระตุ้นให้ผู้เรียนปฏิบัติกิจกรรมแต่ละขั้นตอนแบบกลุ่ม โดยเฉพาะในระหว่างการชมผลงาน สมาชิกกลุ่มต้องชมผลงานทีละชิ้นไปพร้อมๆ กัน รวมทั้งต้องอภิปรายเกี่ยวกับผลงานร่วมกัน ก่อนตัดสินใจให้คะแนนและให้ข้อมูลป้อนกลับแก่ผลงานนั้น ดังนั้นผู้สอนจำเป็นต้องพิจารณากำหนดเวลาในการชมผลงานอย่างเพียงพอ ผู้สอนจำเป็นต้องสร้างและอธิบายเกณฑ์การให้คะแนนผลงานอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงจำเป็นต้องสังเกตพฤติกรรมการชมผลงานของแต่ละกลุ่ม เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนปฏิบัติภาระงานที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

เครื่องมือดิจิทัลที่สามารถใช้ได้

การวัดผลการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้อง