Digital Tools

Peer Review

การเรียนรู้ด้วยการวิพากษ์โดยเพื่อน

  • นิยามและความสำคัญ

การเรียนรู้ด้วยการวิพากษ์โดยเพื่อน (Peer Review) เป็นเทคนิคการสอนที่กระต้นให้ผู้เรียนได้ทบทวนและพิจารณากระบวนการทำงานหรือผลงานของผู้เรียนคนอื่นๆ และให้ข้อมูลป้อนกลับที่จะนำไปสู่การพัฒนามาตรฐานหรือเป้าหมายที่กำหนดไว้ กระตุ้นให้ผู้เรียนทำความเข้าใจเนื้อหาองค์ความรู้และเกณฑ์ประเมินอย่างถูกต้องก่อนที่จะประเมินผู้อื่น

การเรียนรู้ด้วยการวิพากษ์โดยเพื่อน (Peer Review) ช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ที่จะรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น ได้ฝึกการวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการวัดประเมินอย่างมีวิจารณญาณ ช่วยให้ผู้เรียนได้รับข้อมูลหรือแนวทางการพัฒนาตนเองจากการวิพากษ์ผลงาน ทำให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการทำงานและการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ผู้เรียนยังได้ฝึกทักษะการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ด้วยการเขียนและการพูด และมีแรงจูงใจในการเรียนรู้และพัฒนาผลงานจากข้อมูลป้อนกลับที่ได้รับ

  • กระบวนการจัดการเรียนรู้

การเตรียมความพร้อม

          ผู้สอน

  1. ผู้สอนเตรียมเกณฑ์การวิพากษ์ผลงาน ประกอบด้วย ขอบเขตของการวิพากษ์ (เน้นกระบวนการสร้างผลงานและคุณภาพของผลงาน) และคำอธิบายเกณฑ์การวิพากษ์แต่ละระดับอย่างเป็นรูปธรรม จากนั้นกำหนดรูปแบบการวิพากษ์ เช่น วิพากษ์แบบไม่เปิดเผยตัวตนผู้วิพากษ์ วิพากษ์แบบเปิดเผยตัวตนผู้วิพากษ์ วิพากษ์แบบกลุ่ม เป็นต้น และกำหนดระยะเวลาการวิพากษ์อย่างชัดเจน
  2. ผู้สอนเตรียมช่องทางการวิพากษ์ผลงาน โดยพิจารณาให้สอคดล้องกับรูปแบบการวิพากษ์ เช่น การวิพากษ์ในการะดานสนทนาของห้องเรียนออนไลน์ การวิพากษ์ใน E-Form ที่ส่งข้อมูลถึงเจ้าของผลงานโดยเฉพาะ เป็นต้น กรณีการวิพากษ์แบบกลุ่ม ผู้สอนเตรียมช่องทางการประชุมปรึกษาหารือกันภายในกลุ่มแก่ผู้เรียนแบบชั่วคราว โดยตั้งค่า Breakout Room ทั้งจำนวนห้อง เวลา และคำชี้แจงการปฏิบัติของผู้เรียน

          ผู้เรียน

  1. ผู้สอนให้ผู้เรียนทบทวนประเด็นสำคัญที่ได้เรียนรู้
  2. ผู้สอนให้ผู้เรียนศึกษาเกณฑ์การวิพากษ์ผลงาน
  3. ผู้สอนมอบหมายให้ผู้เรียนศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการเรียนรู้ด้วยการวิพากษ์โดยเพื่อน (Peer Review) มาล่วงหน้า โดยผู้สอนควรมีเอกสารหรือสื่อวิดีทัศน์แนะนำสั้นๆ ให้ผู้เรียนได้ทำความเข้าใจด้วยตนเอง

          การจัดการเรียนรู้

                    ขั้นตอนที่ 1 การวิพากษ์

  1. ผู้สอนชี้แจงวัตถุประสงค์การเรียนรู้ ลักษณะกิจกรรม และซักถามความเข้าใจของผู้เรียน
    1. ผู้สอนมอบหมายผลงานให้ผู้เรียนรับผิดชอบวิพากษ์ โดยอาจใช้วิธีการสุ่มเลือก หรือกำหนดผลงานตามคุณสมบัติของผู้วิพากษ์ ทั้งนี้ผู้สอนจะประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับการมอบหมายผลงานหรือไม่ ขึ้นอยู่กับรูปแบบการวิพากษ์ที่ผู้สอนกำหนดไว้
    1. ผู้สอนให้ผู้เรียนศึกษากระบวนการทำงานหรือผลงานของผู้เรียนที่ตนได้รับมอบหมายเปรียบเทียบกับเกณฑ์การวิพากษ์ กรณีการวิพากษ์แบบกลุ่ม ผู้สอนเปิดห้อง Breakout Room เพื่อให้ผู้เรียนเข้ากลุ่มของตนเองและดำเนินกิจกรรม
    1. ผู้สอนให้ผู้เรียนให้ข้อมูลป้อนกลับเกี่ยวกับผลงาน ตามช่องทางการวิพากษ์ผลงานที่กำหนดไว้
    1. ผู้สอนสุ่มเข้าห้อง Breakout Room เพื่อสังเกตพฤติกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กระตุ้นชวนให้ผู้เรียนวิพากษ์ผลงานตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ให้การเสริมแรงและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เรียนตามความจำเป็น

                    ขั้นตอนที่ 2 การพัฒนา

  • ผู้สอนให้ผู้เรียนศึกษาข้อมูลป้อนกลับที่ได้รับจากผู้เรียนคนอื่นๆ
    • ผู้สอนให้ผู้เรียนอภิปรายเกี่ยวกับข้อมูลที่ได้รับ และให้ผู้เรียนแสดงมุมมองของตนที่มีต่อข้อมูลที่ได้รับ โดยผู้สอนเน้นย้ำกับผู้เรียนให้เปิดใจและอภิปรายตามหลักฐานเชิงประจักษ์
    • ผู้สอนให้ผู้เรียนนำข้อสรุปเกี่ยวกับข้อมูลป้อนกลับที่ได้รับการอภิปรายแล้วไปพัฒนากระบวนการทำงานและผลงานของตนเอง

การประเมินผล

                    ผู้สอน สามารถประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ได้จากความถูกต้องในการพิจารณาผลงานตามเกณฑ์ประเมินที่กำหนด การให้ข้อมูลป้อนกลับอย่างสร้างสรรค์ การสรุปแนวทางพัฒนากระบวนการทำงาน/ผลงานอย่างเป็นเหตุเป็นผล

                    ผู้เรียน ทำการสะท้อนคิดการเรียนรู้ (Reflection) ในประเด็นสำคัญ เช่น ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหา ทักษะที่ได้รับจากกิจกรรม แนวทางการนำความรู้และทักษะไปประยุกต์ใช้ เป็นต้น

  • ข้อสังเกต

          การเรียนรู้ด้วยการวิพากษ์โดยเพื่อน (Peer Review) ต้องอาศัยองค์ความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาผลงานและเกณฑ์การวิพากษ์ของผู้เรียน ดังนั้นผู้สอนจำเป็นต้องพัฒนา/สร้างเกณฑ์วิพากษ์ผลงานที่ชัดเจน สมเหตุสมผล และสามารถวัดประเมินได้จริง รวมทั้งจำเป็นต้องกำชับผู้เรียนให้เตรียมความพร้อมในการทำความเข้าใจเกณฑ์การวิพากษ์ก่อนวิพากษ์ผลงานจริง มีการตรวจสอบความพร้อมของผู้เรียน ประกอบกับชี้แจงและอธิบายกระบวนการวิพากษ์เพิ่มเติม กระทั่งผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และมีความเชื่อมั่นซึ่งกันและกันในการวิพากษ์และให้ข้อมูลป้อนกลับอย่างสร้างสรรค์

เครื่องมือดิจิทัลที่สามารถใช้ได้

การวัดผลการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้อง