Digital Tools

Debate

การเรียนรู้ด้วยการอภิปรายแบบโต้วาที

  • นิยามและความสำคัญ

การเรียนรู้ด้วยการอภิปรายแบบโต้วาที (Debate) เป็นเทคนิคการสอนที่กระตุ้นให้ผู้เรียนมีเสรีภาพและประชาธิปไตยในระหว่างร่วมกิจกรรม ใช้ความรู้และทักษะที่ได้เรียนรู้ในหัวข้อหรือประเด็นที่กำหนด กระตุ้นให้ผู้เรียนค้นคว้าและเตรียมข้อมูลสำหรับการนำเสนอ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ภายใต้บรรยากาศที่ผู้เรียนเป็นผู้ควบคุมและบริหารจัดการชั้นเรียนด้วยตนเอง รวมทั้งกระตุ้นให้ผู้เรียนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อื่นในพื้นที่สาธารณะและแสดงจุดยืนทางความคิดอย่างมีเหตุผล มีหลักการและหลักฐานสนับสนุน เพื่อให้ผู้อื่นสนใจ เข้าใจ หรือคล้อยตาม

การเรียนรู้ด้วยการอภิปรายแบบโต้วาที (Debate) ช่วยให้ผู้เรียนได้ฝึกการคิดอย่างเป็นระบบและมีไหวพริบปฏิภาณ ฝึกทักษะการสื่อสาร ทั้งการตั้งคำถาม การอภิปรายโต้แย้งหรือสนับสนุน การประเมินค่าและการยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นอย่างมีวิจารณญาณ ทำให้ผู้เรียนมีข้อมูลและมุมมองที่หลากหลายในการตัดสินใจ เชื่อมั่นในตนเองจากการสนับสนุนของผู้อื่น และมีความกระฉับกระเฉงในการเรียนรู้จากทีท่าของผู้อภิปรายและบรรยากาศที่คาดการณ์ข้อสรุปได้ยาก

  • กระบวนการจัดการเรียนรู้

การเตรียมความพร้อม

          ผู้สอน

  1. ผู้สอนเตรียมประเด็นการอภิปรายแบบโต้วาทีหรือญัตติ โดยควรเป็นประเด็นที่ยังไม่มีข้อสรุป หรือประเด็นความขัดแย้งที่ปรากฏในสังคมปัจจุบัน หรือปัญหาที่เกิดจากการซักถามของผู้เรียน
    1. ผู้สอนจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องกับการอภิปรายแบบโต้วาที ได้แก่ ประธานการนำอภิปรายแบบโต้วาที ฝ่ายสนับสนุน ฝ่ายค้าน กรรมการ และผู้ชม
    1. ผู้สอนเตรียมสื่อการเรียนรู้และแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับญัตติ เพื่อเป็นทรัพยากรให้ผู้เรียนได้สืบค้นประกอบการอภิปรายแบบโต้วาที

          ผู้เรียน

  1. ผู้สอนให้ผู้เรียนทบทวนประเด็นสำคัญที่ได้เรียนรู้
    1. ผู้สอนให้ผู้เรียนรวมกลุ่มตามความสมัครใจ โดยมีเงื่อนไขจำนวนสมาชิกในกลุ่มต้องสอดคล้องกับความยากง่ายของประเด็นอภิปรายแบบโต้วาที และระยะเวลาในการอภิปรายแต่ละรอบ
    1. ผู้สอนมอบหมายให้ผู้เรียนศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการเรียนรู้ด้วยการโต้วาที (Debate) มาล่วงหน้า โดยผู้สอนควรมีเอกสารหรือสื่อวิดีทัศน์แนะนำสั้นๆ ให้ผู้เรียนได้ทำความเข้าใจด้วยตนเอง

          การจัดการเรียนรู้

ขั้นตอนที่ 1 การเปิดญัตติ

  1. ผู้สอนชี้แจงวัตถุประสงค์การเรียนรู้ ลักษณะกิจกรรม ระยะเวลาในการอภิปรายแบบโต้วาที และซักถามความเข้าใจของผู้เรียน
    1. ผู้สอนเล่าสถานการณ์ที่นำไปสู่การอภิปรายแบบโต้วาทีเพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน จากนั้นเสนอญัตติการอภิปรายแบบโต้วาที โดยมีการประกาศญัตติให้ทราบโดยทั่วกันผ่านไลน์กลุ่มของห้องเรียน หรือโพสต์ประกาศของห้องเรียนออนไลน์
    1. ผู้สอนให้ผู้เรียนเลือกฝ่ายในการอภิปรายแบบโต้วาที (ฝ่ายสนับสนุน ฝ่ายค้าน) หรือผู้สอนสุ่มเลือกฝ่ายในการอภิปรายแบบโต้วาทีให้แก่ผู้เรียน

ขั้นตอนที่ 2 การอภิปรายแบบโต้วาที

  • ผู้สอนให้ผู้เรียนกลุ่มที่จะทำการอภิปรายแบบโต้วาที แบ่งหน้าที่กันภายในกลุ่มค้นคว้าหาข้อมูล ฝึกซ้อมการแสดงท่าทีและการใช้คำพูดระหว่างการอภิปรายโต้วาที รวมถึงตรวจสอบอุปกรณ์หรือเครือข่ายอินเตอร์เน็ตให้พร้อมสำหรับการทำกิจกรรม ในขณะเดียวกันผู้สอนต้องเตรียมผู้เรียนคนอื่นๆ ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ฟัง โดยการอธิบายเกี่ยวกับญัตติ มารยาทในการฟัง และแนวทางการจับประเด็น
    • ผู้สอนให้ผู้เรียนเริ่มดำเนินการอภิปรายแบบโต้วาที ตามบทบาทที่ได้รับ
    • ผู้สอนสังเกตการอภิปรายแบบโต้วาที และพฤติกรรมการมีส่วนร่วมในการหาหลักฐานสนับสนุนของสมาชิกในกลุ่ม โดยไม่แทรกระหว่างกิจกรรม ทั้งนี้หากผู้สอนพบว่า การอภิปรายไม่เป็นไปตามญัตติ หรือผู้เรียนใช้อารมณ์ส่วนตัวในการทำกิจกรรม ผู้สอนต้องรีบให้ข้อสังเกต ชี้ชวนให้เข้าประเด็น และเน้นย้ำกับผู้เรียนว่า การอภิปรายแบบโต้วาทีเป็นการสร้างน้ำหนักแก่ความคิดเห็นหรือความเชื่อของตนเอง โดยอาศัยหลักฐานหรือข้อมูลมาสนับสนุนภายในเวลาที่กำหนด

ขั้นตอนที่ 3 การสรุปญัตติและประเด็นการเรียนรู้

  • ผู้สอนนำผลการอภิปรายแบบโต้วาทีมาอภิปรายร่วมกับผู้เรียนที่เป็นผู้ฟัง และซักถามมุมมองของผู้เรียนที่เป็นผู้ฟัง โดยผู้สอนยังไม่ตัดสินหรือเห็นพ้องกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
    • ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันสรุปญัตติ โดยเน้นที่การทำความเข้าใจเหตุผลที่ทั้งสองฝ่ายนำมาสนับสนุนความเชื่อของฝ่ายตน
    • ผู้สอนให้การเสริมแรงแก่ผู้เรียน และเชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ (การค้นหาข้อสนับสนุนความคิดความเชื่อและการอภิปรายโต้แย้ง) กับวัตถุประสงค์การเรียนรู้ของรายวิชา และเชื่อมโยงผลการอภิปรายแบบโต้วาทีกับเนื้อหารายวิชาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเพิ่มเติมประเด็นที่ผู้เรียนยังไม่เข้าใจหรือเข้าใจไม่ครอบคลุม

การประเมินผล

          ผู้สอน สามารถประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ได้หลายมิติ เช่น การมีส่วนร่วมในการรวบรวมข้อมูลและอภิปรายข้อโต้แย้ง การวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อโต้แย้งด้วยเหตุผล การนำเสนอข้อโต้แย้งด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ การใช้เวลาในการอภิปรายและปฏิบัติตามกติกามารยาทในการอภิปรายแบบโต้วาที เป็นต้น

          ผู้เรียน ทำการสะท้อนคิดการเรียนรู้ (Reflection) ในประเด็นสำคัญ เช่น ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหา ทักษะที่ได้รับจากกิจกรรม แนวทางการนำความรู้และทักษะไปประยุกต์ใช้ เป็นต้น และสามารถให้ผู้เรียนเป็นผู้ประเมินสมาชิกภายในกลุ่มตามเกณฑ์ประเมินที่กำหนดได้

  • ข้อสังเกต

          การเรียนรู้ด้วยการอภิปรายแบบโต้วาที (Debate) ต้องอาศัยเวลาในการดำเนินกิจกรรม ซึ่งอาจไม่สามารถควบคุมเวลาในระหว่างการอภิปรายได้ หรืออาจมีการผูกขาดการอภิปรายโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ดังนั้นผู้สอนจำเป็นต้องเตรียมผู้เรียนให้มีความพร้อมในด้านข้อมูลความรู้ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการอภิปรายแบบโต้วาทีอย่างชัดเจน และกระตุ้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงด้วยการถามความเห็นของผู้เรียนเพิ่มเติม นอกจากนี้ผู้เรียนและผู้สอนอาจเกิดความคับข้องใจในข้อสรุปของญัตติที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ดังนั้นผู้สอนจำเป็นต้องพูดคุยกับผู้เรียนถึงผลของการอภิปรายแบบโต้วาทีในครั้งนี้ และชี้ชวนให้นำไปเป็นประเด็นการเรียนรู้ร่วมกันในครั้งต่อไป

เครื่องมือดิจิทัลที่สามารถใช้ได้

การวัดผลการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้อง