Digital Tools

Think-pair-share

การเรียนรู้แบบเพื่อนคู่คิด

  • นิยามและความสำคัญ

การเรียนรู้แบบเพื่อนคู่คิด (Think-pair-share) เป็นเทคนิคการสอนที่กระตุ้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้อย่างทั่วถึง ได้เกิดคิดหาคำตอบด้วยตนเอง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เรียนด้วยกัน และกระตุ้นให้ผู้เรียนหาข้อสรุปร่วมกับผู้อื่นอย่างเป็นระบบ โดยกำหนดขอบเขตการคิดและการพูดคุยอย่างเป็นลำดับขั้นตอน

การเรียนรู้แบบเพื่อนคู่คิด (Think-pair-share) ช่วยให้ผู้เรียนจดจ่อและคิดตามในประเด็นที่กำลังเรียนรู้ ได้ตรวจสอบความรู้ความเข้าใจของตนเอง ทำให้เข้าใจเนื้อหาที่เรียนมากยิ่งขึ้น ได้ฝึกทักษะการสื่อสารด้วยเหตุผล กล้าแสดงความคิดเห็น ลดปัญหาการแย่งตอบ หรือไม่ตอบ เพราะมีคนอื่นตอบไปแล้วหรือกลัวคำตอบของตนจะไม่ถูกต้อง ฝึกการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์คำตอบจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อื่น

  • กระบวนการจัดการเรียนรู้

การเตรียมความพร้อม

          ผู้สอน

  1. ผู้สอนเตรียมประเด็นคำถามหลักที่ต้องการให้ผู้เรียนคิดหาคำตอบ โดยควรเป็นคำถามที่ผู้เรียนต้องตัดสินใจเลือก พร้อมให้เหตุผลประกอบการตัดสินใจเลือก หรือคำถามที่ผู้เรียนต้องใช้ประสบการณ์เดิมของตนเองกับความรู้ในเนื้อหาที่กำลังเรียนรู้ในการคิดหาคำตอบ
  2. ผู้สอนเตรียมคำถามกระตุ้น สำหรับซักถามผู้เรียนเพิ่มเติม ในระหว่างที่ผู้เรียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เรียนคนอื่นๆ โดยควรเป็นคำถามที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงความคิดเห็นของตนเองกับผู้อื่นได้
  3. ผู้สอนเตรียมช่องทางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบชั่วคราว โดยตั้งค่า Breakout Room ทั้งจำนวนห้อง เวลา และคำชี้แจงการปฏิบัติของผู้เรียนในแต่ละช่วง

          ผู้เรียน

ผู้สอนให้ผู้เรียนศึกษาวิธีการใช้ช่องทางการร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้สอนกำหนด

          การจัดการเรียนรู้

ขั้นตอนที่ 1 การกำหนดประเด็นที่ต้องการอภิปราย

  1. ผู้สอนชี้แจงวัตถุประสงค์การเรียนรู้ ลักษณะกิจกรรม และซักถามความเข้าใจของผู้เรียน
    1. ผู้สอนยกตัวอย่างสถานการณ์ที่เกี่ยวกับเนื้อหาที่กำลังเรียนรู้ จากนั้นตั้งคำถามหลักกับผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนคิดหาคำตอบด้วยตนเอง และเขียนคำตอบของตนเองไว้ โดยแจ้งกำหนดเวลาแก่ผู้เรียนอย่างชัดเจน

                    ขั้นตอนที่ 2 การคิดหาคำตอบและการแลกเปลี่ยนความคิด

  • ผู้สอนเปิดห้อง Breakout Room เพื่อให้ผู้เรียนแลกเปลี่ยนคำตอบของตนเองกับผู้เรียนคนอื่น โดยแจ้งกำหนดเวลาแก่ผู้เรียนอย่างชัดเจน และชี้แจงรูปแบบคำตอบที่คาดหวัง
    • ผู้สอนให้ผู้เรียนแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ตนเองได้คิดพิจารณาไว้กับคู่ของตน จากนั้นร่วมกันหาความเชื่อมโยง (ความเหมือนความต่างของคำตอบ) และข้อสรุปร่วมกัน
    • ผู้สอนสุ่มเข้าห้อง Breakout Room เพื่อสังเกตพฤติกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และตั้งคำถามกระตุ้นชวนให้ผู้เรียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

                    ขั้นตอนที่ 3 การนำเสนอข้อสรุปจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

  • ผู้สอนชี้แจงกติกาการนำเสนอ ระยะเวลาในการนำเสนอ และซักถามความเข้าใจของผู้เรียน
    • ผู้สอนให้ผู้เรียนแต่ละคู่ นำเสนอคำตอบที่เป็นข้อสรุปร่วมกัน กรณีห้องเรียนขนาดใหญ่ ผู้สอนอาจใช้การสุ่มนำเสนอ หรือเลือกคู่ที่มีคำตอบน่าสนใจจากการสังเกตของผู้สอนได้
    • ผู้สอนสรุปคำตอบของผู้เรียน และนำเสนอมุมมองของผู้สอนเองที่มีต่อคำถามที่ให้ผู้เรียนคิดหาคำตอบ
    • ผู้สอนถามผู้เรียนเกี่ยวกับกระบวนการได้มาซึ่งคำตอบและความเป็นเอกฉันท์ของข้อสรุป
    • ผู้สอนสรุปประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา และเพิ่มเติมประเด็นที่ผู้เรียนยังไม่เข้าใจหรือยังเข้าใจไม่ครอบคลุม

การประเมินผล

          ผู้สอน นำข้อสรุปของผู้เรียนมาอภิปรายร่วมกัน หรือให้ข้อมูลป้อนกลับแก่ผู้เรียน รวมถึงเชื่อมโยงคำตอบและกระบวนการได้มาซึ่งคำตอบกับวัตถุประสงค์รายวิชาและเนื้อหาที่กำลังเรียนรู้

          ผู้เรียน ตรวจสอบคำตอบของตนเอง โดยเทียบกับคำตอบของเพื่อน เพื่อให้เห็นจุดเหมือน จุดต่าง และเป็นข้อมูลเพิ่มเติม หรือเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาการเรียนรู้ของตนเองในครั้งต่อไป

  • ข้อสังเกต

          การเรียนรู้แบบเพื่อนคู่คิด (Think-pair-share) เป็นกลยุทธ์การสร้างองค์ความรู้ (Constructivism) ที่ผู้เรียนคิดหาคำตอบด้วยตนเองก่อน และพยายามเชื่อมโยงหรือโน้มน้าวให้ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เห็นด้วยกับมุมมองของตน ดังนั้นผู้สอนจึงจำเป็นต้องกำหนดช่องทางให้ผู้เรียนแสดงคำตอบของตนเอง อย่างการให้พิมพ์ตอบในแชทก่อนที่จะไปเข้าห้อง Breakout Room และต้องกระตุ้นให้ผู้เรียนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของตนเองกับผู้เรียนคนอื่นๆ ด้วยการตั้งคำถามกระตุ้นผู้เรียนในห้อง Breakout Room นอกจากนี้ผู้สอนยังจำเป็นต้องถามถึงที่มาของคำตอบในระหว่างการนำเสนอแต่ละคู่ เพื่อให้ผู้เรียนสังเกตเห็นกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมคุณลักษณะผู้ใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิตให้แก่ผู้เรียน

เครื่องมือดิจิทัลที่สามารถใช้ได้

การวัดผลการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้อง