Digital Tools

Jigsaw

การเรียนรู้แบบจิ๊กซอว์

  • นิยามและความสำคัญ

การเรียนรู้แบบจิ๊กซอว์ (Jigsaw) เป็นเทคนิคการสอนที่กระตุ้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ รับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของตนเอง รับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากกลุ่ม และกระตุ้นให้ผู้เรียนนำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาที่ได้เรียนรู้ของตนเองมาถ่ายทอดและเชื่อมต่อกับสมาชิกคนอื่นๆ ในกลุ่ม จนกลายเป็นองค์ความรู้ที่ครบถ้วนและหลากหลายมุมมอง

การเรียนรู้แบบจิ๊กซอว์ (Jigsaw) ช่วยให้ผู้เรียนกระตือรือร้นในการเรียนรู้และร่วมกิจกรรมของกลุ่ม เอาใจใส่ต่อหน้าที่ของตนเองและผลสำเร็จของส่วนรวม ช่วยฝึกทักษะทางสังคม การเป็นผู้นำผู้ตามในกลุ่มผู้ร่วมงานที่คุ้นเคยและไม่คุ้นเคย รวมทั้งได้ฝึกทักษะการสื่อสาร โดยเฉพาะการถ่ายทอดเนื้อหาตามหลักการและการยกตัวอย่างประกอบเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจเนื้อหาที่กำลังถ่ายทอดได้มากขึ้น การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและการสร้างสรรค์ผลงานร่วมกันเป็นกลุ่ม ทำให้ผู้เรียนมีความเชื่อมั่นในตนเองและไว้วางใจผู้อื่น

  • กระบวนการจัดการเรียนรู้

การเตรียมความพร้อม

          ผู้สอน

  1. ผู้สอนเตรียมสื่อการเรียนรู้ที่เกี่ยวกับเนื้อหาที่ต้องการให้ผู้เรียนเรียนรู้ เพื่อเป็นข้อมูลและแหล่งเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้ศึกษาเพิ่มเติม จากนั้นจัดแบ่งหัวข้อในเนื้อหาเท่ากับจำนวนสมาชิกกลุ่ม กรณีห้องเรียนขนาดใหญ่ ผู้สอนอาจแบ่งหัวข้อให้สมาชิกในกลุ่ม 2 คน รับผิดชอบเนื้อหาร่วมกันได้
  2. ผู้สอนเตรียมใบกิจกรรมสำหรับ Expert Group และใบกิจกรรมสำหรับ Home Group โดยรายละเอียดในใบกิจกรรมควรระบุอย่างชัดเจนว่า ผู้เรียนต้องศึกษาข้อมูลจากแหล่งเรียนรู้ใด และมีข้อคำถามที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาทั้งในระดับความจำความเข้าใจ การวิเคราะห์ และการสังเคราะห์ รวมถึงผลงานที่คาดหวัง
  3. ผู้สอนเตรียมช่องทางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ด้วยการตั้ง Breakout Room สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของ Home Group และ Expert Group โดยกำหนดจำนวนห้อง เวลา และคำชี้แจงการปฏิบัติของผู้เรียนในแต่ละช่วง
  4. เช่น โพสต์ประกาศของห้องเรียนออนไลน์ แอพพลิเคชั่น Flipgrid, Padlet, Explain Everything, Jamboard เป็นต้น

          ผู้เรียน

  1. ผู้สอนให้ผู้เรียนรวมกลุ่มตามความสมัครใจ โดยกำหนดจำนวนสมาชิกกลุ่มเท่ากับหัวข้อในเนื้อหาที่ได้เตรียมไว้ และเรียกกลุ่มที่รวมกันนี้ว่า Home Group
  2. ผู้สอนให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มกำหนดหน้าที่ให้สมาชิกแต่ละคนในกลุ่มรับผิดชอบเนื้อหาแต่ละหัวข้อตามที่ผู้สอนกำหนดไว้ และเรียกสมาชิกกลุ่มที่ได้รับผิดชอบเนื้อหาเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะว่า Expert
  3. ผู้สอนมอบหมายให้ผู้เรียนทุกคนศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการเรียนรู้แบบจิ๊กซอว์ (Jigsaw) มาล่วงหน้า โดยผู้สอนควรมีเอกสารหรือสื่อวิดีทัศน์แนะนำสั้นๆ ให้ผู้เรียนได้ทำความเข้าใจด้วยตนเอง
  4. ผู้สอนมอบหมายให้ผู้เรียนทุกคนศึกษาเนื้อหาที่ได้รับมอบหมายจากกลุ่ม โดยผู้สอนแจ้งให้ผู้เรียนศึกษาข้อมูลจากเอกสารที่ผู้สอนเตรียมไว้และจากแหล่งเรียนรู้อื่นเพิ่มเติมอย่างน้อย 1 แหล่งเรียนรู้

          การจัดการเรียนรู้

                    ขั้นตอนที่ 1 การตรวจสอบความพร้อม

  1. ผู้สอนชี้แจงวัตถุประสงค์การเรียนรู้ ลักษณะกิจกรรม เกณฑ์การให้คะแนนรายบุคคล/รายกลุ่ม และซักถามความเข้าใจของผู้เรียน
    1. ผู้สอนตรวจสอบความพร้อมในการเตรียมตัวของผู้เรียนแต่ละคน ด้วยการให้พิมพ์คำสำคัญหรือความรู้สึกต่อเนื้อหาในหัวข้อที่ได้รับมอบหมาย ทั้งนี้หากพบว่าผู้เรียนส่วนใหญ่ยังไม่ได้ศึกษาเนื้อหาที่ได้รับมอบหมายมาล่วงหน้า ผู้สอนควรให้เวลาผู้เรียนศึกษาเนื้อหาก่อนเริ่มกิจกรรม และชี้ชวนให้ผู้เรียนเห็นถึงผลกระทบที่เกิดจากการไม่รับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากกลุ่ม

ขั้นตอนที่ 2 การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่าง Expert

  • ผู้สอนชี้แจงภารกิจของ Expert Group ระยะเวลาในการทำภารกิจ และซักถามความเข้าใจของผู้เรียน
    • ผู้สอนให้ผู้เรียนที่รับผิดชอบเนื้อหาในหัวข้อเดียวกันเข้าห้อง Breakout Room ตามห้องที่กำหนด และเรียกกลุ่มที่รวมกันนี้ว่า Expert Group โดยผู้สอนแจ้งกำหนดเวลาแก่ผู้เรียนอย่างชัดเจน
    • ผู้สอนให้ผู้เรียนเริ่มต้นแนะนำทำความรู้จักกัน และตรวจสอบความถูกต้องในการเข้าห้อง Breakout Room ของสมาชิกในห้องนั้น
    • ผู้สอนให้ผู้เรียนพูดคุยกันเกี่ยวกับสาระสำคัญของเนื้อหาในหัวข้อที่ได้รับผิดชอบ และร่วมกันตอบคำถามตามใบกิจกรรม สำหรับ Expert Group
    • ผู้สอนสุ่มเข้าห้อง Breakout Room เพื่อสังเกตพฤติกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และตั้งคำถามกระตุ้นชวนให้ผู้เรียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

ขั้นตอนที่ 3 การสร้างสรรค์ผลงานร่วมกันของ Home Group

  1. ผู้สอนชี้แจงภารกิจของ Home Group ระยะเวลาในการทำภารกิจ และซักถามความเข้าใจของผู้เรียน
    1. ผู้สอนเปิดห้อง Breakout Room เพื่อให้ผู้เรียนที่อยู่กลุ่มเดียวกันถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับสาระสำคัญของเนื้อหาในหัวข้อที่ได้รับผิดชอบให้สมาชิกในกลุ่มฟัง
    1. ผู้สอนให้สมาชิกกลุ่มแต่ละกลุ่มร่วมกันตอบคำถามตามใบกิจกรรม สำหรับ Home Group
    1. ผู้สอนสุ่มเข้าห้อง Breakout Room เพื่อสังเกตพฤติกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และตั้งคำถามกระตุ้นชวนให้ผู้เรียนสร้างสรรค์ผลงานของกลุ่มร่วมกัน

                    ขั้นตอนที่ 4 การนำเสนอผลงาน

  • ผู้สอนชี้แจงกติกาการนำเสนอ ระยะเวลาในการนำเสนอ และซักถามความเข้าใจของผู้เรียน
    • ผู้สอนให้ตัวแทนกลุ่มแต่ละกลุ่ม นำเสนอผลงานของกลุ่ม โดยแสดงผลงานในบอร์ดนิทรรศการออนไลน์ ตามช่องทางการเผยแพร่ผลงานที่ผู้สอนกำหนดไว้
    • ผู้สอนสรุปประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา และเพิ่มเติมประเด็นที่ผู้เรียนยังไม่เข้าใจหรือยังเข้าใจไม่ครอบคลุม

การประเมินผล

          ผู้สอน สามารถประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ได้จากการสังเกตพฤติกรรมความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของผู้เรียนรายบุคคล และคุณภาพของผลงานจากการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม โดยพิจารณาตามเกณฑ์ที่ผู้สอนได้แจ้งกับผู้เรียนอย่างเคร่งครัด

          ผู้เรียน ทำการสะท้อนคิดการเรียนรู้ (Reflection) ในประเด็นสำคัญ เช่น ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหา ทักษะที่ได้รับจากกิจกรรม แนวทางการนำความรู้และทักษะไปประยุกต์ใช้ เป็นต้น และสามารถให้ผู้เรียนเป็นผู้ประเมินสมาชิกภายในกลุ่มตามเกณฑ์ประเมินที่กำหนดได้

  • ข้อสังเกต

          การเรียนรู้แบบจิ๊กซอว์ (Jigsaw) ต้องอาศัยการเตรียมสื่อการเรียนรู้ที่เกี่ยวกับเนื้อหา ช่องทางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และคำอธิบายภารกิจสำหรับผู้เรียนในแต่ละขั้นตอน ดังนั้นผู้สอนจึงจำเป็นต้องวางแผนการอธิบายและมอบหมายภารกิจแต่ละขั้นตอนให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างทั่วถึง และมีแผนสำรองกรณีผู้เรียนเข้าห้อง Breakout Room ไม่ได้หรือไม่ผิดห้อง นอกจากนี้ยังต้องอาศัยการเตรียมตัวของผู้เรียนในการศึกษาข้อมูลตามที่ได้รับมอบหมายมาล่วงหน้า ดังนั้นผู้สอนจำเป็นต้องแจ้งเตือนผู้เรียนอีกครั้งก่อนเริ่มกิจกรรมการเรียนรู้

เครื่องมือดิจิทัลที่สามารถใช้ได้

การวัดผลการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้อง