Digital Tools

Peer Teaching

การเรียนรู้แบบเพื่อนสอนเพื่อน

  • นิยามและความสำคัญ

การเรียนรู้แบบเพื่อนสอนเพื่อน (Peer Teaching) เป็นเทคนิคการสอนที่กระตุ้นให้ผู้เรียนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ในลักษณะผู้เรียนที่มีข้อมูล มีความรู้ความเข้าใจ หรือมีประสบการณ์ในเนื้อหาหรือหัวข้อนั้นๆ เป็นผู้ช่วยอธิบาย คิดวางแผน แนะนำ และเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาให้กับผู้เรียนคนอื่นๆ โดยอาจเป็นการสอนแบบจับคู่ หรือการมอบหมายให้รับผิดชอบสอนแบบกลุ่ม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเนื้อหา และความพร้อมของผู้เรียน

การเรียนรู้แบบเพื่อนสอนเพื่อน (Peer Teaching) ช่วยให้ผู้เรียนจดจำบทเรียนได้ดีขึ้นจากการได้ทบทวนและตกผลึกความรู้ ได้ค้นคว้า แลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้อื่น และสรุปเป็นความคิดรวบยอดของตนเอง ช่วยให้บรรยากาศการเรียนรู้เป็นไปแบบร่วมมือ เกิดการยอมรับซึ่งกันและกันจากการได้ถ่ายทอดความรู้ของตนเองให้ผู้อื่นได้เข้าใจ ได้สร้างสรรค์แนวคิดใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น อีกทั้งยังช่วยให้ผู้เรียนได้พิจารณาและค้นหาความรู้ความสามารถของตนเอง มองเห็นคุณค่าของตนเอง มีความพร้อมที่จะเรียนรู้เพื่อตนเองและเพื่อผู้อื่น

  • กระบวนการจัดการเรียนรู้

การเตรียมความพร้อม

          ผู้สอน

  1. ผู้สอนเตรียมสื่อการเรียนรู้ที่เกี่ยวกับเนื้อหาที่ต้องการให้ผู้เรียนเรียนรู้ เพื่เป็นข้อมูลและแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้เรียนเพิ่มเติม กรณีห้องเรียนขนนาดใหญ่ และผู้สอนต้องการให้การสอนดำเนินไปแบบกลุ่ม ผู้สอนจำเป็นต้องจัดแบ่งหัวข้อในเนื้อหาเท่ากับจำนวนกลุ่มของผู้เรียน
  2. ผู้สอนเตรียมใบกิจกรรมให้ผู้เรียนสร้างแผนการสอนเพื่อน ประกอบด้วย ชื่อหัวข้อที่ต้องสอน เป้าหมายของการสอน บทบาทความรับผิดชอบของสมาชิกกลุ่ม ขอบเขตด้านเนื้อหา วิธีการสอน กิจกรรม สื่อประกอบ ระยะเวลาที่ใช้ และการวัดประเมินผล
  3. ผู้สอนเตรียมช่องทางการประชุมปรึกษาหารือกันภายในกลุ่มย่อยแก่ผู้เรียน โดยตั้งเป็น Channel หรือกลุ่มย่อยถาวร เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มได้รายงานความก้าวหน้าในการดำเนินกิจกรรม

          ผู้เรียน

  1. ผู้สอนให้ผู้เรียนรวมกลุ่มตามความสมัครใจ โดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้เรียนที่สนใจในหัวข้อเดียวกันรวมกลุ่มกัน
  2. ผู้สอนมอบหมายให้ผู้เรียนศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการเรียนรู้แบบเพื่อนสอนเพื่อน (Peer Teaching) มาล่วงหน้า โดยผู้สอนควรมีเอกสารหรือสื่อวิดีทัศน์แนะนำสั้นๆ ให้ผู้เรียนได้ทำความเข้าใจด้วยตนเอง

          การจัดการเรียนรู้

ขั้นตอนที่ 1 การมอบหมายหน้าที่การเป็นผู้สอนเพื่อน

  1. ผู้สอนชี้แจงวัตถุประสงค์การเรียนรู้ ลักษณะกิจกรรม เกณฑ์การให้คะแนน และซักถามความเข้าใจของผู้เรียน
    1. ผู้สอนให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มแจ้งหัวข้อที่ต้องการสอนเพื่อน กรณีผู้เรียนบางกลุ่มเลือกหัวข้อซ้ำกัน ผู้สอนจำเป็นต้องหาจุดร่วมที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มที่เลือกหัวข้อซ้ำกัน และเป็นธรรมสำหรับผู้เรียนกลุ่มอื่นๆ
    1. ผู้สอนให้ผู้เรียนเข้ากลุ่มย่อยใน Channel ที่กำหนดไว้ เพื่อร่วมกันวางแผนการสอนเพื่อนตามใบกิจกรรม โดยต้องบันทึกการประชุมกลุ่มตลอดระยะเวลาการวางแผน และผู้สอนต้องเข้าไปตรวจสอบ ตั้งข้อสังเกต ให้คำแนะนำในการวางแผนทุกขั้นตอน เพื่อให้การสอนเพื่อนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีข้อบกพร่องน้อยที่สุด
    1. ผู้สอนให้ผู้เรียนซักซ้อมหรือทดลองสอนเพื่อนในกลุ่มเดียวกัน หากพบข้อจำกัดให้ค้นคว้าและปรับปรุง เพื่อให้สามารถถ่ายทอดความรู้ได้อย่างถูกต้อง

                    ขั้นตอนที่ 2 การสอนเพื่อน

  • ผู้สอนชี้แจงกติกา ระยะเวลาในการดำเนินกิจกรรม และซักถามความเข้าใจของผู้เรียน
    • ผู้สอนให้ผู้เรียนดำเนินกิจกรรมตามแผนการสอนที่ออกแบบไว้
    • ผู้สอนสังเกตการดำเนินกิจกรรม และบันทึกข้อสังเกตที่เกิดขึ้น ทั้งส่วนของกลุ่มผู้เรียนที่กำลังทำหน้าที่สอนเพื่อน และผู้เรียนคนอื่นๆ ที่กำลังเรียนรู้ โดยไม่แทรกระหว่างกิจกรรม

                    ขั้นตอนที่ 3 การสรุปกิจกรรม

  • ผู้สอนให้ผู้เรียนกลุ่มที่ทำหน้าที่สอนเพื่อนประเมินการสอนของตนเอง และให้ผู้เรียนคนอื่นๆ ที่เป็นผู้ถูกสอนประเมินการสอนของกลุ่มที่ทำหน้าที่สอนเพื่อน โดยผู้สอนเน้นย้ำกับผู้เรียนว่า การประเมินนี้จะไม่เจาะจงตัวบุคคล แต่จะเป็นการประเมินผลงานของกลุ่ม
    • ผู้สอนให้ข้อสังเกตและข้อมูลป้อนกลับในมุมมของผู้สอน
    • ผู้สอนสรุปประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา และเพิ่มเติมประเด็นที่ผู้เรียนยังไม่เข้าใจหรือยังเข้าใจไม่ครอบคลุม
    • ผู้สอนให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มอภิปรายผลการประเมินตนเอง ผลการประเมินจากเพื่อน และข้อมูลจากผู้สอน เพื่อยอมรับหรือโต้แย้งข้อมูลที่ได้รับ และเสนอแนวทางการพัฒนาตนเองในโอกาสต่อไป

การประเมินผล

                    ผู้สอน สามารถประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ได้จากคุณภาพของแผนการสอนเพื่อน การปฏิบัติตามแผนการสอนเพื่อนอย่างครบถ้วน การอภิปรายผลการประเมินและแนวทางการพัฒนาตนเองในโอกาสต่อไป โดยการประเมินดังกล่าวต้องเป็นไปตามเกณฑ์ทู้สอนได้แจ้งกับผู้เรียนอย่างเคร่งครัด

          ผู้เรียน ทำการสะท้อนคิดการเรียนรู้ (Reflection) ในประเด็นสำคัญ เช่น ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหา ทักษะที่ได้รับจากกิจกรรม แนวทางการนำความรู้และทักษะไปประยุกต์ใช้ เป็นต้น และสามารถให้ผู้เรียนเป็นผู้ประเมินสมาชิกภายในกลุ่มตามเกณฑ์ประเมินที่กำหนดได้

  • ข้อสังเกต

การเรียนรู้แบบเพื่อนสอนเพื่อน (Peer Teaching) ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของผู้เรียนในการวางแผนและรายงานความก้าวหน้าในการพัฒนาแผนการสอนเพื่อนอย่างต่อเนื่อง จนกว่าแผนการสอนเพื่อนจะสมบูรณ์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้นผู้สอนจำเป็นต้องกำหนดเวลาในการรายงานความก้าวหน้าแต่ละขั้นตอนอย่างชัดเจน จึงจะทำให้กิจกรรมเพื่อนสอนเพื่อนเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด ในขณะเดียวกันผู้สอนจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เรียน หากกลุ่มใดที่ผู้สอนสังเกตว่าสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้ด้วยตนเอง ผู้สอนควรให้กำลังใจและสนับสนุน แต่หากมีกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ผู้สอนไม่ควรใช้วิธีการบอกให้ผู้เรียนทำ แต่ควรใช้วิธีการยกตัวอย่างสถานการณ์ใกล้เคียงหรือแนะนำแหล่งค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม

เครื่องมือดิจิทัลที่สามารถใช้ได้

การวัดผลการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้อง