Digital Tools

Question and Answer

การเรียนรู้ด้วยการถามตอบ

  • นิยามและความสำคัญ

การเรียนรู้ด้วยการถามตอบ (Question-and-Answer) เป็นเทคนิคการสอนที่กระตุ้นให้ผู้เรียนจดจ่อและมีส่วนร่วมในระหว่างการเรียนรู้แบบบรรยาย และกระตุ้นให้ผู้เรียนตรวจสอบความจำความเข้าใจของตนในเนื้อหาที่กำลังเรียนรู้ โดยคำถามที่ผู้สอนนำมาใช้อาจเป็นการถามเพื่อให้ผู้เรียนวิเคราะห์ สังเคราะห์ หรือประเมินค่า ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ที่ผู้สอนกำหนดไว้ ส่วนการตอบคำถามของผู้เรียนอาจเป็นการตอบรายบุคคล หรือการได้ปรึกษากับผู้เรียนคนอื่นๆ ก่อนตอบ

การเรียนรู้ด้วยการถามตอบ (Question-and-Answer) ช่วยให้ผู้เรียนมีสมาธิกับการเรียรู้ ได้คิดตามการบรรยายของผู้สอน ได้ทบทวนและตรวจสอบความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาของตนเอง ได้มุมมองและองค์ความรู้เพิ่มเติมจากคำตอบของผู้เรียนคนอื่นๆ รวมทั้งได้ฝึกทักษะการคิดและการสื่อสาร

  • กระบวนการจัดการเรียนรู้

การเตรียมความพร้อม

          ผู้สอน

  1. ผู้สอนเตรียมประเด็นคำถามไว้ล่วงหน้า โดยเป็นคำถามที่สอดคล้องกับเนื้อหาที่ต้องการให้ผู้เรียนเรียนรู้ และควรเตรียมประเด็นคำถามเพื่อตรวจสอบความคิดของผู้เรียนในหลายระดับ เช่น ถามเกี่ยวกับความจำหรือข้อเท็จจริง เช่น ใคร (who) อะไร (what) เมื่อไหร่ (when) ที่ไหน (where) ถามเกี่ยวกับความเข้าใจและการนำไปใช้ด้วยประโยคอย่างไร (how) ถามเกี่ยวกับการวิเคราะห์จำแนกแยกแยะเรื่องราวต่าง ๆ ถามเกี่ยวกับการสังเคราะห์หรือสรุปเป็นหลักการหรือแนวคิดใหม่ ถามเกี่ยวกับการประเมินค่าหรือตีคุณค่าโดยใช้ความรู้สึก ความเชื่อ และหลักการเชิงเหตุผล
    1. ผู้สอนเตรียมรูปแบบคำตอบ เช่น การพูด การโหวต การเลือกตอบตามตัวเลือก การพิมพ์ข้อความ การแสดงภาพหรือไอคอนออนไลน์ต่างๆ
    1. โดยพิจารณาจากรูปแบบคำตอบที่ผู้สอนกำหนดไว้ ความถนัดในการใช้เทคโนโลยีการเรียนรู้ของผู้สอน ความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีการเรียนรู้ของผู้เรียน เช่น Meeting Room, Meeting Chat, Classroom Assessment, แอพพลิเคชั่น Nearpod, Socrative, Formative, Poll Everywhere, Mentimeter เป็นต้น

          ผู้เรียน

ผู้สอนให้ผู้เรียนศึกษาวิธีการใช้ช่องทางการร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้สอนกำหนด

การจัดการเรียนรู้

ขั้นตอนที่ 1 อุ่นเครื่อง

  1. ผู้สอนชี้แจงให้ผู้เรียนทราบล่วงหน้าว่า ในระหว่างการเรียนรู้ จะมีการถามตอบในประเด็นที่กำลังเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนตื่นตัวและติดตามกิจกรรมการเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้น
    1. ผู้สอนเล่าถึงสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่กำลังเรียนรู้ จากนั้นจึงชวนผู้เรียนสังเกตและตั้งคำถาม โดยยังไม่ให้ผู้เรียนตอบออกมา
    1. ผู้สอนเน้นย้ำกับผู้เรียนว่า การเรียนรู้ด้วยการถามตอบ เป็นไปเพื่อให้ผู้เรียนและผู้สอนได้ตรวจสอบตนเอง และเพื่อให้มองเห็นแนวทางการเรียนรู้และการพัฒนาร่วมกัน ดังนั้นคำตอบที่ผู้เรียนตอบมาล้วนเป็นประโยชน์ ผู้เรียนสามารถตอบได้ตามความเข้าใจของตน แต่ต้องไม่นอกประเด็นหรือนอกเรื่องที่กำลังเรียนรู้

ขั้นตอนที่ 2 การถามตอบ

  • ผู้สอนถามคำถาม และให้ผู้เรียนคิดคำตอบ โดยกำหนดเวลาในการคิดหาคำตอบอย่างชัดเจน
    • ผู้สอนแจ้งวิธีการตอบคำถาม และช่องทางการตอบคำถาม
    • โดยอาจเป็นการตอบด้วยการพูด การพิมพ์คำตอบใน Meeting Chat หรือกระดานการสนทนาของห้องเรียนออนไลน์ การตอบในแอพพลิเคชั่นการเรียนรู้ เช่น PollEverywhere, Mentimeter, E-Form, Explain Everything เป็นต้น

          ขั้นตอนที่ 3 การตรวจสอบและอภิปรายคำตอบ

  • ผู้สอนรวบรวมคำตอบของผู้เรียน และหยิบยกคำตอบที่น่าสนใจของผู้เรียนขึ้นมาอภิปรายร่วมกับผู้เรียน เพื่อสรุปและสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ร่วมกัน
    • ผู้สอนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเป็นผู้ตั้งคำถามเพิ่มเติม หรือซักถามมุมมองกับผู้เรียนคนอื่นๆ หรือกับผู้สอน เพื่อขยายขอบเขตองค์ความรู้ร่วมกัน
    • ผู้สอนสรุปประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา และเพิ่มเติมประเด็นที่ผู้เรียนยังไม่เข้าใจหรือยังเข้าใจไม่ครอบคลุม

การประเมินผล

ผู้สอน นำข้อสรุปของผู้เรียนมาอภิปรายร่วมกัน หรือให้ข้อมูลป้อนกลับแก่ผู้เรียน รวมถึงเชื่อมโยงคำตอบของผู้เรียนกับวัตถุประสงค์รายวิชาและเนื้อหาที่กำลังเรียนรู้

ผู้เรียน ตรวจสอบคำตอบของตนเอง โดยเทียบกับคำตอบของเพื่อน เพื่อให้เห็นจุดเหมือน จุดต่าง และเป็นข้อมูลเพิ่มเติม หรือเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาการเรียนรู้ของตนเองในครั้งต่อไป

  • ข้อสังเกต

          การเรียนรู้ด้วยการถามตอบ (Question-and-Answer) เป็นกลยุทธ์การสร้างองค์ความรู้ (Constructivism) ที่ผู้เรียนต้องรู้จักตั้งคำถามที่เป็นประโยชน์หรือคำถามที่จะทำให้ได้มาซึ่งคำตอบ และต้องอาศัยจังหวะและโอกาสที่เหมาะสมในการตั้งคำถาม ดังนั้นผู้สอนจำเป็นต้องสังเกตบรรยากาศการเรียนรู้ เช่น การถามตอบในช่วงเนื้อหาสำคัญ ช่วงที่ผู้เรียนยังไม่เข้าใจเนื้อหานั้นอย่างถ่องแท้ ช่วงที่ผู้เรียนแสดงปฏิกิริยาตอบสนองน้อย เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องอาศัยเวลาที่เพียงพอสำหรับการคิดคำตอบ และพิมพ์คำตอบในช่องทางที่ผู้สอนกำหนด ดังนั้นผู้สอนจึงควรพิจารณาความพร้อมของผู้เรียนในการค้นหาคำตอบ การพิมพ์คำตอบ และการใช้ช่องทางการตอบคำถามที่ผู้สอนกำหนดด้วย

เครื่องมือดิจิทัลที่สามารถใช้ได้

การวัดผลการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้อง