Digital Tools

Problem-based Learning

การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน

  • นิยามและความสำคัญ

การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Project-based Learning) เป็นเทคนิคการสอนที่กระตุ้นให้ผู้เรียนกล้าเผชิญปัญหาอุปสรรค ด้วยการทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างลุ่มลึก เป็นเหตุเป็นผล และแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาอุปสรรคอย่างตรงประเด็นและสร้างสรรค์ ทั้งนี้การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานยังกระตุ้นให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้จากความสงสัย ซึ่งเป็นการเรียนรู้อย่างมีความหมายสำหรับผู้เรียน

การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Project-based Learning) ช่วยให้ผู้เรียนได้ฝึกการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ และคิดแก้ไขปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ รู้จักวางแผนและบริหารทรัพยากรการทำงาน จากขั้นตอนในการทำความเข้าใจและขั้นตอนการแสวงหาแนวทางแก้ไขสถานการณ์ปัญหาต่างๆ ทำให้ผู้เรียนมีทักษะการตั้งคำถาม การตั้งสมมติฐาน และการประเมินสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจ ทำให้ผู้เรียนมีคลังความรู้และทางเลือกที่หลากหลายเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคในอนาคต ช่วยให้ผู้เรียนได้ฝึกการทำงานร่วมกับผู้อื่นในสถานการณ์ที่อาจขัดแย้งทางความคิด รู้จักปรับตัวและบริหารความสัมพันธ์เพื่อความสำเร็จของงาน ได้ฝึกการรวบรวมข้อมูล ความคิดเห็น และแสดงจุดยืนของตนเอง รวมถึงได้พัฒนาความเชื่อมั่นและคุณค่าในตนเองของผู้เรียน เมื่อได้เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา หรือเอาชนะอุปสรรคที่เกิดขึ้นได้

  • กระบวนการจัดการเรียนรู้

การเตรียมความพร้อม

ผู้สอน

  1. ผู้สอนกำหนดวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน บนพื้นฐานความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การเรียนรู้ของรายวิชา เนื้อหารายวิชา และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
  2. ผู้สอนสร้างสถานการณ์ปัญหา (Scenario) โดยใช้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในโลก ใกล้เคียงกับบริบทการเรียนรู้ และวิถีชีวิตของผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนรับรู้ถึงความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องมีประสบการณ์ร่วมในสถานการณ์ปัญหานี้
  3. ผู้สอนเตรียมคู่มือการดำเนินกิจกรรม ประกอบด้วย ขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม ระยะเวลาในการดำเนินกิจกรรมแต่ละขั้นตอน บทบาทหน้าที่ของผู้เรียน ผลลัพธ์ที่คาดหวังจากการดำเนินกิจกรรมในขั้นตอนนั้นๆ
  4. ผู้เรียนเตรียมใบกิจกรรมให้ผู้เรียนดำเนินกิจกรรมร่วมกัน ประกอบด้วย รายชื่อสมาชิกกลุ่มและบทบาทความรับผิดชอบ ปัญหาที่กลุ่มสนใจ ลักษณะของปัญหา แนวทางการแก้ไขปัญหา
  5. ผู้สอนเตรียมช่องทางการประชุมปรึกษาหารือกันภายในกลุ่มย่อยแก่ผู้เรียน โดยตั้งเป็น Channel หรือกลุ่มย่อยถาวร
  6. ผู้สอนกำหนดรูปแบบการนำเสนอ เช่น บอร์ดนิทรรศการ สื่อวีดิทัศน์ หรือ Infographic ประกอบการพูดอธิบาย เป็นต้น และเตรียมช่องทางการเผยแพร่ผลงานของผู้เรียน เช่น โพสต์ประกาศของห้องเรียนออนไลน์ แอพพลิเคชั่น Flipgrid, Padlet, Explain Everything, Jamboard เป็นต้น

ผู้เรียน

  1. ผู้สอนให้ผู้เรียนรวมกลุ่มตามความสมัครใจ โดยมีเงื่อนไขจำนวนสมาชิกในกลุ่มต้องสอดคล้องกับความซับซ้อนของปัญหา
  2. ผู้สอนมอบหมายให้ผู้เรียนศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Project-based Learning) มาล่วงหน้า โดยผู้สอนควรมีเอกสารหรือสื่อวิดีทัศน์แนะนำสั้นๆ ให้ผู้เรียนได้ทำความเข้าใจด้วยตนเอง

          การจัดการเรียนรู้

                    ขั้นตอนที่ 1 ก่อนเริ่มดำเนินกิจกรรม

  1. ผู้สอนชี้แจงวัตถุประสงค์การเรียนรู้ ลักษณะกิจกรรม ขั้นตอนการทำโครงงาน เกณฑ์การให้คะแนนรายบุคคล/รายกลุ่ม และซักถามความเข้าใจของผู้เรียน
    1. ผู้สอนให้ผู้เรียนเข้ากลุ่มย่อยใน Channel ที่กำหนดไว้ เพื่อกำหนดบทบบาทหน้าที่ให้แก่มิกแต่ละคน และเพื่อศึกษาเกณฑ์ประเมินผลการปฏิบัติตามบทาทหน้าที่

          ขั้นตอนที่ 2 การทำความเข้าใจสถานการณ์ปัญหา

  • ผู้สอนให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มศึกษาสถานการณ์ปัญหา (Scenario) โดยทำความเข้าใจลำดับเหตุการณ์ที่บุคคลในสถานการณ์ได้เผชิญ พร้อมกับทำความเข้าใจข้อความหรือคำศัพท์เฉพาะที่สมาชิกกลุ่มอาจยังไม่เข้าใจหรือเข้าไม่ตรงกัน (Clarifying term)
    • ผู้สอนให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มทำรายการปัญหาที่ปรากฏในสถานการณ์ปัญหา (Problem List) ให้ได้มากที่สุด ทั้งที่เป็นปัญหาที่เห็นได้อย่างชัดเจน และปัญหาที่อาจซ่อนอยู่หรือปัญหาที่อาจตามมาในภายหลัง
    • ผู้สอนให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มเลือกปัญหาที่สนใจ กลุ่มมละ 1 ปัญหา โดยปัญหาที่กลุ่มเลือกนั้น ต้องมาจากมติที่เป็นเอกฉันท์ของกลุ่ม และแต่ละกลุ่มต้องอธิบายเหตุผลในการเลือกปัญหาดังกล่าว

          ขั้นตอนที่ 3 การวิเคราะห์ปัญหา

  • ผู้สอนให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มแจ้งประเด็นปัญหาที่กลุ่มตัดสินใจเลือก ให้ผู้สอนและผู้เรียนกลุ่มอื่นๆ ทราบ โดยผู้สอนรวบรวมปัญหาทั้งหมด และประกาศให้ผู้เรียนทุกกลุ่มทราบโดยทั่วกันอีกครั้ง ผ่านไลน์กลุ่มของห้องเรียน หรือโพสต์ประกาศของห้องเรียนออนไลน์
    • ผู้สอนให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา ทั้งในมิติสาเหตุของปัญหาที่เกิดจากตัวบุคคลและสาเหตุที่เกิดจากโครงสร้างทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อม
    • ผู้สอนให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มวิเคราะห์ผลกระทบของปัญหา ทั้งในมิติผลกระทบที่มีต่อตัวบุคคลที่กำลังเผชิญปัญหา บุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงหรือโดยอ้อม โครงสร้างทางสังคม และสิ่งแวดล้อม
    • ผู้สอนให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มสรุปข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ในรูปแบบ Concept Map และนำเสนอในโพสต์ประกาศของห้องเรียนออนไลน์ จากนั้นผู้สอนและผู้เรียนกลุ่มอื่นๆ ให้ข้อสังเกตร่วมกัน

          ขั้นตอนที่ 4 การสังเคราะห์แนวทางการแก้ไขปัญหา

  1. ผู้สอนให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มปรับปรุง Concept Map ตามข้อมูลป้อนกลับที่ได้รับจากผู้สอนและผู้เรียนกลุ่มอื่นๆ
    1. ผู้สอนให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันระดมสมองเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับสาเหตุของปัญหาให้ได้มากที่สุด
    1. ผู้สอนให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันสังเคราะห์เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาจากข้อมูลที่ได้จากการระดมสมอง โดยพิจารณาเปรียบเทียบข้อดีข้อจำกัด ความเป็นไปได้ในการนำไปใช้แก้ปัญหาได้จริง จากนั้นจะทำเป็นแผนการแก้ไขปัญหา ที่ประกอบด้วย ชื่อแนวทางการแก้ไขปัญหา ผลลัพธ์ที่คาดหวังจากการแก้ไขปัญหา ตัวชี้วัดความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา ขั้นตอนการปฏิบัติ ทรัพยากรที่จำเป็นในการแก้ไขปัญหา

          ขั้นตอนที่ 5 การนำเสนอผลการดำเนินกิจกรรม

  1. ผู้สอนชี้แจงกติกาการนำเสนอ ระยะเวลาในการนำเสนอ ลำดับการนำเสนอ และซักถามความเข้าใจของผู้เรียน
    1. ผู้สอนให้ตัวแทนกลุ่มแต่ละกลุ่ม นำเสนอผลงานของกลุ่ม โดยนำเสนอในรูปแบบสื่อวีดิทัศน์ ตามช่องทางการเผยแพร่ผลงานที่ผู้สอนกำหนดไว้
    1. ผู้สอนให้ผู้เรียนกลุ่มอื่นๆ ซักถาม ให้ข้อคิดเห็น จากนั้นผู้สอนจึงให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
    1. ผู้สอนให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มประเมินตนเอง ตามเกณฑ์ประเมินผลการปฏิบัติตามบทาทหน้าที่ที่กำหนดไว้ โดยผู้สอนย้ำกับผู้เรียนอย่างชัดเจนว่า การประเมินตนเองนี้ จำเป็นต้องมีการอภิปรายร่วมกัน ไม่ใช่การให้คะแนนตนเอง หรือการให้คะแนนโดยหัวหน้ากลุ่ม แต่เป็นการให้คะแนนที่มาจากการพิจารณาร่วมกันของสมาชิกทุกคนในกลุ่ม
    1. ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการดำเนินกิจกรรม และเชื่อมโยงสิ่งที่ได้เรียนรู้กับวัตถุประสงค์การเรียนรู้ของรายวิชา เนื้อหารายวิชา และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการแก้ไขปัญหา

การประเมินผล

          ผู้สอน สามารถประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ได้จากการสังเกตพฤติกรรมความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของผู้เรียนรายบุคคล คุณลักษณะหรือบุคลิกภาพที่รอบคอบและมีวิจารณญาณ การปฏิบัติตามกระบวนการศึกษาและเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา และคุณภาพของผลงานจากการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม โดยพิจารณาตามเกณฑ์ที่ได้แจ้งกับผู้เรียนไว้อย่างเคร่งครัด

                    ผู้เรียน ตรวจสอบกระบวนการศึกษาและเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาของกลุ่มตนเอง โดยเทียบกับกลุ่มอื่น เพื่อให้เห็นจุดเหมือน จุดต่าง และเป็นข้อมูลประกอบการเรียนรู้เพิ่มเติม ทำการสะท้อนคิดการเรียนรู้ (Reflection) ในประเด็นสำคัญ เช่น ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหา ทักษะที่ได้รับจากกิจกรรม แนวทางการนำความรู้และทักษะไปประยุกต์ใช้ เป็นต้น และสามารถให้ผู้เรียนเป็นผู้ประเมินสมาชิกภายในกลุ่มตามเกณฑ์ประเมินที่กำหนดได้

  • ข้อสังเกต

การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Project-based Learning) ต้องอาศัยความรับผิดชอบตามบทบาทหน้าที่ของผู้เรียนในกลุ่มแต่ละคน ต้องอาศัยการเรียนรู้ด้วยการนำตนเองของผู้เรียน (Self-directed Learning) และต้องอาศัยทักษะการสืบค้นและทักษะสื่อความของผู้เรียน จึงจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่คาดหวังในแต่ละขั้นตอน ดังนั้นผู้สอนจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเข้าไปกระตุ้นเตือน ให้คำแนะนำ และให้การเสริมแรงแก่ผู้เรียนทุกกลุ่ม แต่ไม่ควรใช้วิธีการบอกให้ผู้เรียนทำ ผู้สอนควรใช้วิธีการยกตัวอย่างสถานการณ์ใกล้เคียงหรือแนะนำแหล่งค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมแทน นอกจากนี้ในระหว่างการดำเนินกิจกรรม ผู้เรียนอาจเกิดความเครียด หรือความไม่แน่ใจในคำตอบ หรือต้องการให้ผู้สอนบอกว่าผู้สอนต้องการคำตอบแบบใด กรณีนี้ผู้สอนต้องชวนให้ผู้เรียนพิจารณาผลงานของกลุ่มเปรียบเทียบกับวัตถุประสงค์การเรียนรู้และเกณฑ์ประเมิน และให้ผู้เรียนพิจารณาบนพื้นฐานความเป็นเหตุเป็นผล จากนั้นจึงให้ผู้เรียนเป็นผู้ตัดสินใจด้วยตนเอง

เครื่องมือดิจิทัลที่สามารถใช้ได้

การวัดผลการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้อง