Digital Tools

Role Play

การเรียนรู้ด้วยการแสดงบทบาทสมมติ

  • นิยามและความสำคัญ

          การเรียนรู้ด้วยการแสดงบทบาทสมมติ (Role Play) เป็นเทคนิคการสอนที่กระตุ้นให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติ ได้แสดงความคิด ความรู้สึกของตน ตามบทบาทที่ได้รับมอบหมาย กระตุ้นให้ผู้เรียนใส่ใจผู้ที่มีบทบาทหน้าที่แตกต่างไปจากตนเอง และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนวิเคราะห์ความคิด ความรู้สึก และการะทำที่ได้แสดงออก ตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนด

          การเรียนรู้ด้วยการแสดงบทบาทสมมติ (Role Play) ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจความคิด ความรู้สึก และการกระทำของผู้ที่อยู่ในบทบาทนั้น จากการได้สำรวจมุมมองของตนเองและได้สำรวจมุมมองของผู้อื่น ช่วยให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติเทคนิคเฉพาะของแต่ละบทบาทในสถานการณ์ที่ใกล้เคียงความเป็นจริง ทำให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาที่กำลังเรียนรู้ได้อย่างลึกซึ้ง รู้จักปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกับบทบาทและค่านิยมของกลุ่ม รู้จักการแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างเหมาะสมกับบทบาทหรือสถานการณ์ นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้เรียนได้ฝึกความกล้าแสดงออกตามบทบาทสมมติที่ได้รับมอบหมาย กล้าตอบสนองต่อสถานการณ์ที่กำหนดขึ้นตามความคิดความรู้สึกของตนเอง ทำให้เรียนเข้าใจความสัมพันธ์และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม

  • กระบวนการจัดการเรียนรู้

การเตรียมความพร้อม

          ผู้สอน

  1. ผู้สอนเตรียมสถานการณ์และบทบาทสมมติที่สอดคล้องกับเนื้อหาและวัตถุประสงค์การเรียนรู้ โดยสถานการณ์สมมติควรเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงหรือใกล้เคียงกับความเป็นจริง ส่วนบทบาทสมมติ หากผู้สอนมีเวลาให้ผู้เรียนเตรียมตัวและต้องการให้ผู้เรียนคิดบทด้วยตนเอง ควรเลือกการแสดงบทบาทแบบละคร แต่หากผู้สอนมีเวลาจำกัดและต้องการให้ผู้เรียนแสดงบทบาทสมมติตามความคิดของตนในขณะนั้นในการจัดการความขัดแย้งที่แฝงอยู่ ควรเลือกการแสดงบทบาทสมมติแบบแก้ปัญหา
  2. ผู้สอนเตรียมสื่ออธิบายรายละเอียดของบทบาทสมมติ โดยบทผู้แสดง ประกอบด้วย ขอบเขตการแสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง การเคลื่อนไหวร่างกาย คำพูด หรือจังหวะโอกาสในการแสดงออก ส่วนบทผู้สังเกตการณ์ ประกอบด้วย ประเด็นที่ต้องสังเกต วิธีการบันทึกข้อมูล และเกณฑ์สำหรับตรวจสอบการแสดงตามบทบาทของผู้แสดงแต่ละคน
  3. ผู้สอนเตรียมช่องทางการประชุมปรึกษาหารือกันภายในกลุ่มแก่ผู้เรียนแบบชั่วคราว โดยตั้งค่า Breakout Room ทั้งจำนวนห้อง เวลา และคำชี้แจงการปฏิบัติของผู้เรียนในแต่ละบทบาท

          ผู้เรียน

  1. ผู้สอนให้ผู้เรียนรวมกลุ่มตามความสมัครใจ โดยกำหนดจำนวนสมาชิกกลุ่มเท่ากับจำนวนบทบาทในสถานการณ์สมมติที่กำหนดขึ้น
  2. ผู้สอนมอบหมายให้ผู้เรียนศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการเรียนรู้ด้วยการแสดงบทบาทสมมติ (Role Play) มาล่วงหน้า โดยผู้สอนควรมีเอกสารหรือสื่อวิดีทัศน์แนะนำสั้นๆ ให้ผู้เรียนได้ทำความเข้าใจด้วยตนเอง

          การจัดการเรียนรู้

                    ขั้นตอนที่ 1 การกำหนดผู้แสดงบทบาทสมมติ

  1. ผู้สอนชี้แจงวัตถุประสงค์การเรียนรู้ ลักษณะกิจกรรม เกณฑ์การให้คะแนนรายบุคคล/รายกลุ่ม และซักถามความเข้าใจของผู้เรียน
    1. ผู้สอนเล่าสถานการณ์สมมติที่เกี่ยวกับเนื้อหาที่กำลังเรียนรู้ จากนั้นชวนให้ผู้เรียนสังเกตวิกฤตที่เกิดขึ้น และให้ผู้เรียนลองคิดตามว่า หากผู้เรียนอยู่ในสถานการณ์นี้ ผู้เรียนจะตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างไร
    1. ผู้สอนเปิดห้อง Breakout Room เพื่อให้ผู้เรียนแต่คนละเข้ากลุ่มของตน จากนั้นสมาชิกกลุ่มร่วมพูดคุยทำความเข้าใจสถานการณ์สมมติ ให้ชัดเจน และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
    1. ผู้สอนให้ผู้เรียนกำหนดบทบาทให้กับสมาชิกแต่ละคนในกลุ่ม ประกอบด้วย บทผู้แสดง และบทผู้สังเกตการณ์ โดยอาจใช้วิธีการสุ่มเลือก หรือการให้ผู้เรียนจับฉลาก หรือการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้เรียนที่มีลักษณะตรงกันข้ามกับบทบาทที่กำหนดไว้เป็นผู้แสดงบทบาทนั้น
    1. ผู้สอนให้ผู้เรียนศึกษาบทบาทที่ได้รับมอบหมาย และคิดบทแสดงของตน โดยผู้สอนแจ้งกำหนดเวลาแก่ผู้เรียนอย่างชัดเจน

                    ขั้นตอนที่ 2 การแสดงบทบาทสมมติ

  • ผู้สอนให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มเริ่มแสดงบทบาทสมมติตามที่ได้เตรียมการไว้ กรณีห้องเรียนขนาดเล็ก ผู้สอนให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มแสดงบทบาทสมมติให้เพื่อนกลุ่มอื่นๆ ชมได้ แต่หากกรณีห้องเรียนขนาดใหญ่ ผู้สอนให้ผู้เรียนแสดงในห้อง Breakout Room ของกลุ่มตนเองได้
    • ในระหว่างการแสดงบทบาทสมมติ ผู้สอนไม่ควรขัดการแสดงกลางคัน เว้นแต่การแสดงเริ่มออกนอกทาง หรือสร้างความสะเทือนใจ หรือเกินเวลาที่กำหนดไปมาก หรือการแสดงนั้นได้ข้อมูลเพียงพอแล้ว ผู้สอนควรตัดบทหรือให้ยุติการแสดง
    • ผู้สอนสังเกตการณ์แสดงบทบาทสมติ หรือสุ่มเข้าห้อง Breakout Room เพื่อสังเกตพฤติกรรมที่เกิดขึ้นภายในกลุ่ม

                    ขั้นตอนที่ 3 การวิเคราะห์และอภิปรายการแสดงบทบาทสมมติ

  • ผู้สอนให้ผู้เรียนที่รับบทผู้แสดงบอกความรู้สึกและความคิดของตนเองในการสวมบทบาทสมมตินั้น จากนั้นผู้สอนให้ผู้เรียนที่รับบทผู้สังเกตการณ์บอกข้อมูลที่สังเกตได้
    • ผู้สอนให้ผู้เรียนวิเคราะห์ความสอดคล้องระหว่างการแสดงบทบาทสมมติกับเนื้อหาที่กำลังเรียนรู้และวัตถุประสงค์การเรียนรู้ โดยผู้สอนจำเป็นต้องกำชับกับผู้เรียนว่า การวิเคราะห์นี้ต้องเกิดจากการอภิปรายร่วมกันอย่างตรงไปตรงมา เน้นที่เหตุผลของการแสดง ไม่ใช่การตำหนิใครแสดงดีหรือไม่ดี
    • ผู้สอนให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มนำเสนอผลการอภิปราย และให้สรุปเกี่ยวกับการตอบสนองต่อสถานการณ์สมมติที่กำหนดให้ โดยอาจเป็นการยืนยันตามบทบาทที่แสดงไป หรือเป็นแนวทางใหม่ที่คาดว่าจะแก้ไขวิกฤตที่เกิดขึ้นได้
    • ผู้สอนเน้นย้ำวัตถุประสงค์ของการแสดงบทบาทสมมติ โดยเชื่อมโยงการแสดงบทบาทสมมติกับเนื้อหาและวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่เน้นใช้บทบาทสมมติเป็นเครื่องมือในการึงคามคิดความรู้สึก มุมมอง หรืออคติต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในสถานการณ์สมมติมาเป็นข้อมูลในการเรียนรู้
    • ผู้สอนสรุปประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา และเพิ่มเติมประเด็นที่ผู้เรียนยังไม่เข้าใจหรือยังเข้าใจไม่ครอบคลุม

การประเมินผล

                    ผู้สอน สามารถประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ได้จากการสังเกตการมีส่วนร่วมแสดงบทบาทสมมติตามเงื่อนไขที่กำหนดของผู้เรียนรายบุคคล และข้อสรุปของกลุ่มในการวิเคราะห์ความสอดคล้องระหว่างการแสดงบทบาทสมมติกับเนื้อหาที่กำลังเรียนรู้และวัตถุประสงค์การเรียนรู้ โดยพิจารณาตามเกณฑ์ที่ได้แจ้งกับผู้เรียนไว้อย่างเคร่งครัด

          ผู้เรียน ทำการสะท้อนคิดการเรียนรู้ (Reflection) ในประเด็นสำคัญ เช่น ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหา ทักษะที่ได้รับจากกิจกรรม แนวทางการนำความรู้และทักษะไปประยุกต์ใช้ เป็นต้น และสามารถให้ผู้เรียนเป็นผู้ประเมินสมาชิกภายในกลุ่มตามเกณฑ์ประเมินที่กำหนดได้

  • ข้อสังเกต

          การเรียนรู้ด้วยการแสดงบทบาทสมมติ (Role Play) ต้องอาศัยเวลาค่อนข้างมากในการเตรียมตัวและเวลาในการแสดงบทบาทสมมติของผู้เรียน ดังนั้นผู้สอนจำเป็นต้องเผื่อเวลาให้ผู้เรียนเตรียมความพร้อม ซึ่งสามารถกำหนดช่วงเวลาเพื่อการเตรียมความพร้อมนี้ นอกเหนือเวลาเรียนในห้องเรียนได้ และจำเป็นต้องกำหนดเวลาการแสดงบทบาทสมมติอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังต้องอาศัยความสามารถของผู้สอนในการแก้ไขสถานการณ์ที่ผู้เรียนอาจไม่แสดงบทบาทสมมติตามความคาดหมาย ดังนั้นผู้สอนจำเป็นต้องคัดเลือกสถานการณ์ที่เป็นจริงและสอดคล้องสภาพการณ์ปัจจุบันของผู้เรียน มีการเตรียมสถานการณ์สำรองเป็นทางเลือกให้กับผู้เรียน มีการเตรียมข้อมูลเพื่อเชื่อมโยงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่กับวัตถุประสงค์การเรียนรู้ และร่วมกับผู้เรียนในการสะท้อนคิดการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นทั้งในทางบวกและทางลบ

เครื่องมือดิจิทัลที่สามารถใช้ได้

การวัดผลการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้อง