Digital Tools

Creative-based Learning

การเรียนรู้โดยใช้การคิดสร้างสรรค์เป็นฐาน

  • นิยามและความสำคัญ

การเรียนรู้โดยใช้การคิดสร้างสรรค์เป็นฐาน (Creative-based Learning) เป็นเทคนิคการสอนที่กระตุ้นให้ผู้เรียนใช้กระบวนการคิดหลายอย่างประกอบกัน เช่น การคิดวิเคราะห์ การคิดสังเคราะห์ และการคิดประเมินค่า ในการสร้างสิ่งใหม่หรือแก้ปัญหาที่มีอยู่ให้ดีขึ้น โดยการเรียนรู้โดยใช้การคิดสร้างสรรค์เป็นฐานเป็นเทคนิคการสอนที่เกิดจากการวิจัยต่อยอดจากการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning: PBL) เพียงแต่ไม่มีการกำหนดสถานการณ์ปัญหา (Scenario) ไว้ล่วงหน้า ดังนั้นสถานการณ์ปัญหาหรือประเด็นที่ผู้เรียนจะได้เรียนรู้และฝึกฝนจึงเป็นไปตามความสนใจที่แท้จริงของผู้เรียน

การเรียนรู้โดยใช้การคิดสร้างสรรค์เป็นฐาน (Creative-based Learning) ช่วยให้ผู้เรียนกระตือรือร้นในการค้นหาคำตอบอย่างมีเหตุผล กล้าแสดงความคิดเห็น กล้านำเสนอสิ่งที่แตกต่างจากคนอื่น ช่วยให้ผู้เรียนได้ฝึกการเชื่อมโยงสถานการณ์ไปสู่การค้นพบคำตอบ และรู้จักยอมรับข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อแนะนำของผู้อื่นอย่างมีวิจารณญาณ และนำมาพัฒนาหรือต่อยอดผลงานของตนให้ดียิ่งขึ้น

  • กระบวนการจัดการเรียนรู้

การเตรียมความพร้อม

          ผู้สอน

  1. ผู้สอนเตรียมใบกิจกรรมให้ผู้เรียนสร้างแผนการดำเนินกิจกรรม ประกอบด้วย ลักษณะสถานการณ์ปัญหาหรือประเด็นที่ผู้เรียนสนใจ ขั้นตอนการสร้างสรรค์ผลงาน ระยะเวลา ความรู้และทักษะที่จำเป็นในการสร้างสรรค์ผลงาน ทรัพยากรที่ต้องใช้ บทบาทความรับผิดชอบของสมาชิกกลุ่ม
  2. ผู้สอนเตรียมสื่อการเรียนรู้และแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นทรัพยากรให้ผู้เรียนได้สืบค้นเพิ่มเติม
  3. ผู้สอนเตรียมช่องทางการประชุมปรึกษาหารือกันภายในกลุ่มย่อยแก่ผู้เรียน โดยตั้งเป็น Channel หรือกลุ่มย่อยถาวร เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มได้รายงานความก้าวหน้าในการดำเนินกิจกรรม
  4. เช่น โพสต์ประกาศของห้องเรียนออนไลน์ Meeting Room, Classroom Assessment แอพพลิเคชั่น Flipgrid, Padlet, Explain Everything, Jamboard เป็นต้น

          ผู้เรียน

  1. ผู้สอนให้ผู้เรียนทบทวนประเด็นสำคัญที่ได้เรียนรู้
  2. ผู้สอนให้ผู้เรียนรวมกลุ่มตามความสมัครใจ โดยมีเงื่อนไขจำนวนสมาชิกในกลุ่มต้องสอดคล้องกับความสร้างสรรค์ของผลงานที่ผู้เรียนตั้งเป้าหมายไว้
  3. ผู้สอนมอบหมายให้ผู้เรียนศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการเรียนรู้โดยใช้การคิดสร้างสรรค์เป็นฐาน (Creative-based Learning) มาล่วงหน้า โดยผู้สอนควรมีเอกสารหรือสื่อวิดีทัศน์แนะนำสั้นๆ ให้ผู้เรียนได้ทำความเข้าใจด้วยตนเอง

          การจัดการเรียนรู้

                    ขั้นตอนที่ 1 การสร้างความตระหนัก

  1. ผู้สอนชี้แจงวัตถุประสงค์การเรียนรู้ ลักษณะกิจกรรม เกณฑ์การให้คะแนน และซักถามความเข้าใจของผู้เรียน
    1. ผู้สอนเล่าสถานการณ์ ใช้ภาพ ข้อความ สื่อมีเดีย หรือเกม ที่มีความสอดคล้องกับผู้เรียนและเนื้อหาที่ต้องการให้ผู้เรียนเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนพร้อมเข้าสู่เรื่องที่จะเรียนรู้และเกิดความคิดจินตนาการ

                    ขั้นตอนที่ 2 การติดเพื่อระบุสถานการณ์

  • ผู้สอนให้ผู้เรียนตั้งปัญหาหรือค้นหาปัญหาที่ตนเองสงสัย จากนั้นให้ผู้สอนให้ผู้เรียนรวมกลุ่มตามความสมัครใจ โดยอาจเพิ่มเงื่อนไขให้ผู้เรียนที่สนใจในหัวข้อเดียวกันรวมกลุ่มกัน
    • ผู้สอนให้ผู้เรียนเข้ากลุ่มย่อยใน Channel ที่กำหนดไว้ เพื่ออภิปรายและร่วมกันกำหนดปัญหาหรือสถานการณ์ที่ต้องการสร้างสรรค์ให้ดีขึ้น
    • ผู้สอนให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มแจ้งปัญหาหรือสถานการณ์ที่ต้องการสร้างสรรค์เป็นผลงาน เพื่อให้ผู้สอนและผู้เรียนกลุ่มอื่นๆ ได้ร่วมให้ข้อสังเกตเพิ่มเติม กรณีผู้เรียนบางกลุ่มเลือกหัวข้อซ้ำกัน ผู้สอนจำเป็นต้องหาจุดร่วมที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มที่เลือกหัวข้อซ้ำกัน และเป็นธรรมสำหรับผู้เรียนกลุ่มอื่นๆ

                    ขั้นตอนที่ 3 การค้นคว้าและสร้างสรรค์ผลงาน

  • ผู้สอนให้ผู้เรียนเข้ากลุ่มย่อยใน Channel ที่กำหนดไว้ เพื่อรวบรวม วิเคราะห์ และสร้างสรรค์ผลงาน โดยผู้สอนต้องสนับสนุนให้ผู้เรียนสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบต่างๆ โดยไม่หลีกเลี่ยงการตัดสินถูกผิด และการอธิบายเนื้อหาอย่างละเอียด เนื่องจากจะส่งผลให้ผู้เรียนหมดอิสระทางความคิด ทั้งนี้ในขั้นตอนที่ 3 อาจใช้เวลามากน้อยแตกต่างกันขึ้นอยู่กับขอบเขตและความซับซ้อนของผลงาน
    • ผู้สอนสุ่มเข้าห้อง Breakout Room เพื่อสังเกตพฤติกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างการสร้างสรรค์ผลงาน ตั้งคำถามกระตุ้นชวนให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการทำงาน ให้คำแนะนำปรึกษาเมื่อผู้เรียนต้องการความช่วยเหลือ รับฟังเรื่องราวที่ผู้เรียนคิดหรือนำเสนอและเรียนรู้ไปพร้อมกับผู้เรียน

                    ขั้นตอนที่ 4 การนำเสนอผลงาน

  • ผู้สอนชี้แจงกติกาการนำเสนอ ระยะเวลาในการนำเสนอ ลำดับการนำเสนอ และซักถามความเข้าใจของผู้เรียน
    • ผู้สอนให้ผู้เรียนนำเสนอผลงานของกลุ่มตามช่องทางการเผยแพร่ผลงานที่ผู้สอนกำหนด โดยสนับสนุนให้ผู้เรียนสร้างสรรค์วิธีการนำเสนอในรูปแบบต่างๆ โดยหลีกเลี่ยงการตัดสินถูกผิด แต่ให้การเสริมแรงและเน้นการเลือกสื่อนำเสนอที่สอดคล้องกับผลงานและกลุ่มผู้ชมการนำเสนอ
    • ผู้สอนให้ผู้เรียนกลุ่มอื่นประเมินผลงานตามเกณฑ์ประเมินผลที่กำหนดไว้ และให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการนำเสนอผลงานของกลุ่มอื่น โดยหากไม่มีข้อซักถามหรือข้อสงสัยจากผู้เรียนร่วมชั้น ผู้สอนอาจจะเป็นผู้เริ่มถามเองได้
    • ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันคัดเลือกผลงานที่โดดเด่น เพื่อนำแสดงต่อสาธารณะ โดยอาจเป็นการแสดงผลงานในระดับสถานศึกษา หรือชุมชน หรือในสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้รับมุมมองจากบุคคลที่หลากหลายมากขึ้นและสามารถใช้เป็นประวัติผลงานของผู้เรียนได้

การประเมินผล

          ผู้สอน สามารถประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ได้หลายมิติ เช่น ความสร้างสรรค์ของผลงาน คุณค่าหรือประโยชน์ต่อสังคมของผลงาน กระบวนการทำงานที่มีอิสรภาพทางความคิด และคุณลักษณะหรือบุคลิกภาพที่เปิดรับความท้ายทายและมีความยืดหยุ่น

                    ผู้เรียน ตรวจสอบผลงานของกลุ่มตนเอง โดยเทียบกับกลุ่มอื่น เพื่อให้เห็นจุดเหมือน จุดต่าง และเป็นข้อมูลประกอบการเรียนรู้เพิ่มเติม ทำการสะท้อนคิดการเรียนรู้ (Reflection) ในประเด็นสำคัญ เช่น ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหา ทักษะที่ได้รับจากกิจกรรม แนวทางการนำความรู้และทักษะไปประยุกต์ใช้ เป็นต้น และสามารถให้ผู้เรียนเป็นผู้ประเมินสมาชิกภายในกลุ่มตามเกณฑ์ประเมินที่กำหนดได้

  • ข้อสังเกต

          การเรียนรู้โดยใช้การคิดสร้างสรรค์เป็นฐาน (Creative-based Learning) ต้องอาศัยความสนใจหรือความสมัครใจไม่ใช่การมอบหมายหรือสั่งงาน ต้องอาศัยอิสรภาพทางการคิดและการเลือกใช้ทรัพยากรอย่างเปิดกว้าง ดังนั้นผู้สอนจำเป็นต้องใช้วิธีการตั้งคำถามปลายเปิดเพื่อให้ผู้เรียนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเปิดกว้างและผู้สอนได้เข้าใจผู้เรียน แต่อย่างไรก็ตามผู้สอนจำเป็นต้องเชื่อมโยงกระบวนการทำงานหรือผลงานของผู้เรียนกับวัตถุประสงค์การเรียนรู้และเนื้อหารายวิชา เพื่อให้ผู้เรียนได้เห็นพัฒนาการของตนเองในด้านต่างๆ และบูรณาการความรู้ที่ได้เรียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เครื่องมือดิจิทัลที่สามารถใช้ได้

การวัดผลการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้อง