Digital Tools

Inquiry-based Learning

การเรียนรู้แบบสืบสอบ

  • นิยามและความสำคัญ

การเรียนรู้แบบสืบสอบ (Inquiry-based Learning) เป็นเทคนิคการสอนที่กระตุ้นให้ผู้เรียนสังเกตสถานการณ์รอบตัว ตั้งคำถาม แสวงหาคำตอบตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และประมวลคำตอบจากข้อมูลที่ได้จากการสังเกต การซักถาม หรือการสืบค้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อคลี่คลายความสงสัยด้วยตนเอง และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนประยุกต์สิ่งที่เรียรู้ไปสู่การสร้างประสบการณ์ของตนเอง และสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสังคม

การเรียนรู้แบบสืบสอบ (Inquiry-based Learning) ช่วยให้ผู้เรียนได้ฝึกวิเคราะห์เป้าหมายและสร้างคำถามที่จะทำให้ได้ข้อมูลที่ต้องการ ได้ฝึกการสรุป อภิปราย และสังเคราะห์ข้อมูล จากการโต้แย้งทางวิชาการและการทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ผู้เรียนยังสนุกกับการเรียนและประเด็นที่ผู้เรียนสนใจเรียนรู้ ทำให้ผู้เรียนเกิดความผูกพันและความพึงพอใจในการเรียนรู้

  • กระบวนการจัดการเรียนรู้

การเตรียมความพร้อม

          ผู้สอน

  1. ผู้สอนกำหนดวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้แบบสืบสอบ (Inquiry-based Learning) บนพื้นฐานความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การเรียนรู้ของรายวิชา เนื้อหารายวิชา และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
  2. ผู้สอนเตรียมใบกิจกรรมให้ผู้เรียนสร้างแผนการดำเนินกิจกรรม ประกอบด้วย ประเด็นที่ต้องการสืบสอบและเรียนรู้ วัตถุประสงค์ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ขั้นตอนและเครื่องมือที่ใช้ในการสืบสอบและเรียนรู้ ระยะเวลา ความรู้และทักษะที่จำเป็นในการสืบสอบ แนวทางการสังเคราะห์และตรวจสอบองค์ความรู้ บทบาทความรับผิดชอบของสมาชิกกลุ่ม การนำเสนอองค์ความรู้
  3. ผู้สอนเตรียมสื่อการเรียนรู้และแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ผู้เรียนตั้งคำถาม เพื่อเป็นทรัพยากรให้ผู้เรียนได้สืบค้นเพิ่มเติม
  4. ผู้สอนเตรียมช่องทางการประชุมปรึกษาหารือกันภายในกลุ่มย่อยแก่ผู้เรียน โดยตั้งเป็น Channel หรือกลุ่มย่อยถาวร และเป็นช่องทางให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มได้รายงานความก้าวหน้าในการดำเนินกิจกรรม
  5. ผู้สอนเตรียมช่องทางการเผยแพร่ผลงานของผู้เรียน เช่น โพสต์ประกาศของห้องเรียนออนไลน์ Meeting Room, Classroom Assessment แอพพลิเคชั่น Flipgrid, Padlet, Explain Everything, Jamboard เป็นต้น

          ผู้เรียน

  1. ผู้สอนให้ผู้เรียนรวมกลุ่มตามความสมัครใจ โดยมีเงื่อนไขจำนวนสมาชิกในกลุ่มต้องสอดคล้องกับความซับซ้อนของประเด็นที่ผู้เรียนตั้งคำถาม
  2. ผู้สอนมอบหมายให้ผู้เรียนศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการเรียนรู้แบบสืบสอบ (Inquiry-based Learning) มาล่วงหน้า โดยผู้สอนควรมีเอกสารหรือสื่อวิดีทัศน์แนะนำสั้นๆ ให้ผู้เรียนได้ทำความเข้าใจด้วยตนเอง

          การจัดการเรียนรู้

ขั้นตอนที่ 1 การกำหนดคำถาม

  1. ผู้สอนชี้แจงวัตถุประสงค์การเรียนรู้ ลักษณะกิจกรรม เกณฑ์การให้คะแนน และซักถามความเข้าใจของผู้เรียน
    1. ผู้สอนเล่าสถานการณ์ ใช้ภาพ ข้อความ สื่อมีเดีย หรือเกม ที่มีความสอดคล้องกับเนื้อหาที่ต้องการให้ผู้เรียนเรียนรู้และเป็นประเด็นที่สังคมกำลังให้ความสนใจ เพื่อตรวจสอบความรู้เดิมความเข้าใจของผู้เรียน รวมทั้งให้ผู้เรียนเกิดมีความอยากรู้อยากค้นหาองค์ความรู้เพิ่มเติม โดยอาจใช้การเรียนรู้ด้วยการถามตอบ (Question-and-Answer) การเรียนรู้แบบเพื่อนคู่คิด (Think-pair-share)

ขั้นตอนที่ 2 การสืบหาและทำความเข้าใจองค์ความรู้

  • ผู้สอนให้ผู้เรียนเสนอประเด็นที่ต้องการค้นคว้า และอธิบายวัตถุประสงค์ของตนเอง เพื่อให้ผู้สอนและผู้เรียนร่วมให้ข้อสังเกตเพิ่มเติม จากนั้นผู้สอนให้ผู้เรียนรวมกลุ่มและตัดสินใจเลือกประเด็นที่สนใจเรียนรู้
    • ผู้สอนให้ผู้เรียนเข้ากลุ่มย่อยใน Channel ที่กำหนดไว้ เพื่อร่วมกันวางแผน และกำหนดแนวทางการแสวงหาข้อมูล โดยเริ่มตั้งแต่การกำหนดจุดมุ่งหมายในการศึกษา ลำดับขั้นตอนการศึกษา การวางแผนการเก็บข้อมูล การสรุปและอภิปรายผล จนถึงการนำเสนอข้อมูลอย่างสร้างสรรค์
    • ผู้สอนให้ผู้เรียนรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น การสังเกตสภาพการณ์จริง การสัมภาษณ์ผู้ที่อาศัยอย่ในชุมชนหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาสังคม การสืบค้นจากเอกสารหรือสื่อต่างๆ เป็นต้น จากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์ แปลผล และสรุปผล โดยมีการอ้างอิงประจักษ์พยานหรือหลักฐานอย่างชัดเจน
    • ผู้สอนให้ผู้เรียนรายงานความก้าวหน้าการเรียนรู้แบบสืบสอบตามช่วงเวลาที่กำหนด และให้คำแนะนำปรึกษา หรือเสนอแหล่งเรียนรู้เพิ่มเติม เมื่อผู้เรียนต้องการ ทั้งนี้ผู้สอนควรมีแบบรายงานความก้าวหน้าที่ระบุวัตถุประสงค์ของการรายงานความก้าวหน้าในครั้งนั้นๆ อย่างชัดเจน
    • ผู้สอนกระตุ้นเตือนเกี่ยวกับกำหนดการรายงานความก้าวหน้า หรือให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการเรียนรู้แบบสืบสอบ หรือให้การเสริมแรงตามสมควร ผ่านไลน์กลุ่ม หรือ Channel กลุ่มย่อยของผู้เรียนที่กำหนดไว้

ขั้นตอนที่ 3 การขยายความรู้และนำความรู้ไปใช้

  1. ผู้สอนให้ผู้เรียนนำข้อมูลที่ได้จากสืบค้นมาเชื่อมโยงกับความรู้เดิมของผู้เรียนและเนื้อหาที่ผู้เรียนกำลังเรียนรู้ เพื่อสะท้อนความรู้ความเข้าใจของผู้เรียน
    1. ผู้สอนให้ผู้เรียนำเสนอองค์ความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้แบบสืบสอบ โดยมีการจัดหมวดหมู่ประเด็นการนำเสนอและดับการนำเสนอที่ร้อยเรียงกัน ทั้งนี้ผู้สอนอาจให้ผู้เรียนนำเสนอในรูปแบบกลุ่ม โดยนำเสนอในรูปแบบสื่อวีดิทัศน์ หรือ Infographic ประกอบการพูดอธิบาย และให้ผู้เรียนกลุ่มอื่นๆ ซักถาม ให้ข้อคิดเห็น จากนั้นผู้สอนจึงให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
    1. ผู้สอนให้ผู้เรียนนำองค์ความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้แบบสืบสอบ และข้อมูลป้อนกลับที่ได้จากการนำเสนอ ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์ หรือกระตุ้นให้นำความรู้ที่ได้ไปสร้างความรู้ใหม่ หรือผสมผสานกับความรู้เดิมแล้วสังเคราะห์ให้เป็นความรู้ใหม่ได้

การประเมินผล

          ผู้สอน สามารถประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ได้หลายมิติ เช่น การมีส่วนร่วมในการสืบสอบ กระบวนการสืบสอบและสังเคราะห์องค์ความรู้ ความถูกต้องขององค์ความรู้ที่ได้รับ แนวทางการประยุกต์และต่อยอดองค์ความรู้ และคุณลักษณะหรือบุคลิกภาพแบบใฝ่เรียนรู้

                    ผู้เรียน ตรวจสอบองค์ความรู้ของกลุ่มตนเอง โดยเทียบกับกลุ่มอื่น เพื่อให้เห็นจุดเหมือน จุดต่าง และเป็นข้อมูลประกอบการเรียนรู้เพิ่มเติม ทำการสะท้อนคิดการเรียนรู้ (Reflection) ในประเด็นสำคัญ เช่น ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหา ทักษะที่ได้รับจากกิจกรรม แนวทางการนำความรู้และทักษะไปประยุกต์ใช้ เป็นต้น และสามารถให้ผู้เรียนเป็นผู้ประเมินสมาชิกภายในกลุ่มตามเกณฑ์ประเมินที่กำหนดได้

  • ข้อสังเกต

          การเรียนรู้แบบสืบสอบ (Inquiry-based Learning) ต้องอาศัยกระบวนการสืบค้นและสังเคราะห์องค์ความรู้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ผู้เรียนมีทิศทางการทำงานและได้องค์ความรู้ที่ถูกต้องหรือเกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้นผู้สอนจำเป็นต้องสอดแทรกและเชื่อมโยงหลักคิดไปกับขั้นตอนการเรียนรู้แบบสืบสอบให้ผู้เรียนเข้าใจอย่างถ่องแท้ นอกจากนี้ยังต้องอาศัยบรรยากาศการเรียนรู้แบบร่วมมือจากผู้เรียนในกลุ่มเดียวกัน จากการสนับสนุนของผู้สอน และความรับผิดชอบของผู้เรียนที่จะนำการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-directed) ดังนั้นผู้สอนจำเป็นต้องติดตามความก้าวหน้าในการทำงานของผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง

เครื่องมือดิจิทัลที่สามารถใช้ได้

การวัดผลการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้อง