Digital Tools

Research-based Learning

การเรียนรู้โดยใช้การวิจัยเป็นฐาน

  • นิยามและความสำคัญ

การเรียนรู้โดยใช้การวิจัยเป็นฐาน (Research-based Learning) เป็นเทคนิคการสอนที่กระตุ้นให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์เชื่อมโยงสิ่งที่เรียนรู้กับสังคม กระตุ้นให้ผู้เรียนแสวงหาและรวบรวมผลการวิจัยต่างๆ ด้วยกระบวนการวิจัย และพิสูจน์หรือสรุปเป็นองค์ความรู้ ข้อค้นพบ นวัตกรรม อย่างเป็นระบบด้วยตนเอง โดยการเรียนรู้โดยใช้การวิจัยเป็นฐาน เกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ เช่น การเป็นผู้ร่วมวิจัย การทำการทดลองในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ การศึกษารายกรณี การศึกษาเอกสาร การทำวิจัยฉบับเล็ก (Baby Research) การทำวิทยานิพนธ์ เป็นต้น

การเรียนรู้โดยใช้การวิจัยเป็นฐาน (Research-based Learning) ช่วยให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะกระบวนการค้นคว้า การคิดวิเคราะห์และบูรณาการเนื้อหาความรู้กับผลการวิจัยอย่างมีวิจารณญาณ การประเมินความเชื่อถือได้ของความรู้อย่างมีเหตุผล ได้รู้จักการวางแผนในการทำงาน การแก้ไขปัญหา และการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญช่วยให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจและการกำกับตนเองในการเรียนรู้ เกิดความเชื่อมั่นในศักยภาพในการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง และเกิดการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งและมีความหมายต่อตนเองจากประสบการณ์ตรงในการใช้กระบวนการวิจัย

  • กระบวนการจัดการเรียนรู้

การเตรียมความพร้อม

          ผู้สอน

  1. ผู้สอนเตรียมใบกิจกรรมให้ผู้เรียนสร้างแผนการดำเนินกิจกรรม ประกอบด้วย ปัญหาการวิจัยที่ผู้เรียนสนใจ ภูมิหลังการวิจัย วัตถุประสงค์และขอบเขตการวิจัย แนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย แนวทางการวิเคราะห์ข้อมูล แนวทางการสรุปองค์ความรู้ อภิปรายองค์ความรู้ และนำความรู้ไปใช้
  2. ผู้สอนเตรียมสื่อการเรียนรู้และแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นทรัพยากรให้ผู้เรียนได้สืบค้นเพิ่มเติม
  3. ผู้สอนเตรียมช่องทางการประชุมปรึกษาหารือกันภายในกลุ่มย่อยแก่ผู้เรียน โดยตั้งเป็น Channel หรือกลุ่มย่อยถาวร เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มได้รายงานความก้าวหน้าในการดำเนินกิจกรรม
  4. ผู้สอนเตรียมช่องทางการเผยแพร่ผลงานของผู้เรียน เช่น โพสต์ประกาศของห้องเรียนออนไลน์ Meeting Room, Classroom Assessment แอพพลิเคชั่น Flipgrid, Padlet, Explain Everything, Jamboard เป็นต้น

          ผู้เรียน

  1. ผู้สอนให้ผู้เรียนทบทวนประเด็นสำคัญที่ได้เรียนรู้
  2. ผู้สอนให้ผู้เรียนรวมกลุ่มตามความสมัครใจ โดยมีเงื่อนไขจำนวนสมาชิกในกลุ่มต้องสอดคล้องกับขอบเขตและความยากง่ายของปัญหาการวิจัย
  3. ผู้สอนมอบหมายให้ผู้เรียนศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการเรียนรู้โดยใช้การวิจัยเป็นฐาน (Research-based Learning) มาล่วงหน้า โดยผู้สอนควรมีเอกสารหรือสื่อวิดีทัศน์แนะนำสั้นๆ ให้ผู้เรียนได้ทำความเข้าใจด้วยตนเอง

                    ขั้นตอนที่ 1 การเตรียมความพร้อม

  1. ผู้สอนชี้แจงวัตถุประสงค์การเรียนรู้ ลักษณะกิจกรรม ขั้นตอนการเรียนรู้ เกณฑ์การให้คะแนนรายบุคคล/รายกลุ่ม และซักถามความเข้าใจของผู้เรียน
    1. ผู้สอนให้ผู้เรียนเข้ากลุ่มย่อยใน Channel ที่กำหนดไว้ เพื่อร่วมกันวางแผนการศึกษาด้วยกระบวนการวิจัยและสังเคราะห์ผลการวิจัย โดยต้องบันทึกการประชุมกลุ่มตลอดระยะเวลาการวางแผน และผู้สอนต้องเข้าไปให้ข้อสังเกตหรือคำแนะนำ เมื่อผู้เรียนต้องการ หรือความจำเป็น
    1. ผู้สอนให้ผู้เรียนศึกษาความเป็นไปได้ในการทำวิจัย ศึกษาแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการวิจัย และจัดทำเป็นข้อเสนอการวิจัย
    1. ผู้สอนให้ผู้เรียนนำเสนอข้อเสนอการวิจัย โดยชี้แจงกติกาการนำเสนอ ลำดับการนำเสนอ ระยะเวลาในการนำเสนอ จากนั้นผู้สอนและผู้เรียกลุ่มอื่นๆ ต้องร่วมให้ข้อมูลป้อนกลับแก่ข้อเสนอการวิจัยนั้น
    1. ผู้สอนให้ผู้เรียนปรับปรุงข้อเสนอโครงงาน ตามข้อมูลป้อนกลับที่ได้รับ

                    ขั้นตอนที่ 2 การเรียนรู้ด้วยการวิจัย

                              การจัดการเรียนรู้กรณีใช้ผลการวิจัยในการเรียนรู้

  1. ผู้สอนให้ผู้เรียนเริ่มดำเนินการวิจัยตามที่กำหนดไว้ โดยผู้สอนให้ผู้เรียนสืบค้นผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาที่กำหนด จากนั้นเปรียบเทียบข้อมูล ตีความและสรุปเป็นข้อค้นพบ รวมถึงอภิปรายข้อค้นพบด้วยความรู้จากเนื้อหาหารายวิชา หรือบูรณาการจากศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และให้ข้อเสนอแนะเชิงสร้างสรรค์ต่อตนเองและสังคม
  2. ผู้สอนให้ผู้เรียนรายงานความก้าวหน้าในการทำวิจัยตามช่วงเวลาที่กำหนด และให้คำแนะนำปรึกษา หรือเสนอแหล่งเรียนรู้เพิ่มเติม เมื่อผู้เรียนต้องการ หรือให้การเสริมแรงตามสมควร ผ่านไลน์กลุ่ม หรือ Channel กลุ่มย่อยของผู้เรียนที่กำหนดไว้
  3. ผู้สอนให้ผู้เรียนรวบรวมและสรุปผลการวิจัยตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย และเตรียมนำเสนอโครงงาน

                              การจัดการเรียนรู้กรณีใช้กระบวนการวิจัยในการเรียนรู้

  1. ผู้สอนให้ผู้เรียนเริ่มดำเนินการวิจัยตามที่กำหนดไว้ โดยให้ผู้สอนให้ผู้เรียนทบทวนเอกสารและวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องและกำหนดสมมติฐานการวิจัย จากนั้นทดสอบสมมติฐานด้วยการทดลอง การสำรวจ การสัมภาษณ์ เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ผลการทดสอบสมมติฐาน รวมถึงอภิปรายข้อค้นพบด้วยความรู้จากเนื้อหาหารายวิชา หรือบูรณาการจากศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และให้ข้อเสนอแนะเชิงสร้างสรรค์ต่อตนเองและสังคม
  2. ผู้สอนให้ผู้เรียนรายงานความก้าวหน้าในการทำวิจัยตามช่วงเวลาที่กำหนด และให้คำแนะนำปรึกษา หรือเสนอแหล่งเรียนรู้เพิ่มเติม เมื่อผู้เรียนต้องการ หรือให้การเสริมแรงตามสมควร ผ่านไลน์กลุ่ม หรือ Channel กลุ่มย่อยของผู้เรียนที่กำหนดไว้
  3. ผู้สอนให้ผู้เรียนรวบรวมและสรุปผลการวิจัยตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย และเตรียมนำเสนอโครงงาน

                    ขั้นตอนที่ 3 การนำเสนอผลการเรียนรู้

  • ผู้สอนชี้แจงกติกาการนำเสนอ ระยะเวลาในการนำเสนอ ลำดับการนำเสนอ และซักถามความเข้าใจของผู้เรียน
    • ผู้สอนให้ตัวแทนกลุ่มแต่ละกลุ่ม นำเสนอผลงานของกลุ่ม โดยนำเสนอในรูปแบบสื่อวีดิทัศน์ หรือ Infographic ประกอบการพูดอธิบาย
    • ผู้สอนให้ผู้เรียนกลุ่มอื่นๆ ซักถาม ให้ข้อคิดเห็น จากนั้นผู้สอนจึงให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
    • ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการวิจัย และเชื่อมโยงสิ่งที่ได้เรียนรู้กับวัตถุประสงค์การเรียนรู้ของรายวิชาและเนื้อหารายวิชาที่เกี่ยวข้อง

การประเมินผล

          ผู้สอน สามารถประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ได้หลายมิติ เช่น องค์ความรู้หรือนวัตกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้ คุณค่าหรือประโยชน์ต่อสังคมของผลงาน การปฏิบัติตามขั้นตอนการวิจัย

                    ผู้เรียน ตรวจสอบผลงานของกลุ่มตนเอง โดยเทียบกับกลุ่มอื่น เพื่อให้เห็นจุดเหมือน จุดต่าง และเป็นข้อมูลประกอบการเรียนรู้เพิ่มเติม ทำการสะท้อนคิดการเรียนรู้ (Reflection) ในประเด็นสำคัญ เช่น ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหา ทักษะที่ได้รับจากกิจกรรม แนวทางการนำความรู้และทักษะไปประยุกต์ใช้ เป็นต้น และสามารถให้ผู้เรียนเป็นผู้ประเมินสมาชิกภายในกลุ่มตามเกณฑ์ประเมินที่กำหนดได้

  • ข้อสังเกต

          การเรียนรู้โดยใช้การวิจัยเป็นฐาน (Research-based Learning) ต้องอาศัยทักษะการสังเกต การตั้งคำถาม การกำกับควบคุมตนเองในการสืบหาคำตอบด้วยวิธีการที่เชื่อถือได้ และบริหารจัดการภาระงานที่ซับซ้อนให้สำเร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด จึงจะทำให้ผู้เรียนเกิดความเชื่อมั่นและเห็นคุณค่าในศักยภาพของตนเองได้ ดังนั้นผู้สอนจึงจำเป็นต้องประเมินผู้เรียนทักษะการวิจัยของผู้เรียน เช่น ทักษะการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสังเกตและการตั้งคำถาม ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยหลักการทางสถิติและการวิเคราะห์เนื้อหา เป็นต้น เพื่อฝึกฝนผู้เรียนรู้พร้อมต่อการดำเนินการวิจัยได้อย่างราบรื่น นอกจากนี้ผู้สอนจำเป็นต้องรับฟังปัญหาของผู้เรียน ตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นการคิดและการทำงานของผู้เรียนให้มีความก้าวหน้า บางครั้งผู้สอนจำเป็นต้องร่วมค้นหาคำตอบและเรียนรู้ไปพร้อมกับผู้เรียน และสนับสนุนแหล่งค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมให้แก่ผู้เรียน ตามความจำเป็น

เครื่องมือดิจิทัลที่สามารถใช้ได้

การวัดผลการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้อง