การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning) เป็นเทคนิคการสอนที่กระตุ้นให้ผู้เรียนทำงานร่วมกับผู้อื่นและเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติกระทั่งได้คำตอบที่ผู้เรียนอยากรู้หรือสงสัย สนับสนุนให้ผู้เรียนเชื่อมโยงประสบการณ์เดิมกับสิ่งที่กำลังเรียนรู้ และบูรณาการความรู้จากศาสตร์ต่างๆ กับชีวิตจริง เพื่อสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ของตนเองจากรูปธรรมเป็นนามธรรม ซึ่งอาจเป็นองค์ความรู้ที่เหมือนหรือต่างจากที่ผู้เรียนได้เรียนรู้ในห้องเรียน ทั้งนี้การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานยังกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดสร้างสรรค์ คิดแก้ปัญหา คิดวิพากษ์ และคิดรับผิดชอบต่อความสำเร็จของส่วนรวม
การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning) ช่วยให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะทักษะการทำงานที่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิต (Real World) ตั้งแต่การวางแผน การควบคุมการปฏิบัติให้เป็นไปตามแผน การแก้ปัญหา การประเมินการปฏิบัติ การสื่อสารและการนำเสนอ ช่วยฝึกทักษะการปรับตัวและความรับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากกลุ่ม นอกจากนี้ผู้เรียนยังได้รับประสบการณ์ตรงจากการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง และจากการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลและสภาพแวดล้อม ทำให้ผู้เรียนมีความเชื่อมั่นในตนเอง มีวิธีการเรียนรู้และพัฒนาตนเองจากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย
การเตรียมความพร้อม
ผู้สอน
- ผู้สอนเตรียมใบกิจกรรมให้ผู้เรียนสร้างแผนการทำโครงงาน ประกอบด้วย ชื่อโครงงาน หลักการและเหตุผลในการทำโครงงาน วัตถุประสงค์ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ขั้นตอนการทำโครงงาน ระยะเวลา ความรู้และทักษะที่จำเป็นในการทำโครงงาน ทรัพยากรที่ต้องใช้ในการทำโครงงาน แนวทางการตรวจสอบและประเมินโครงงาน บทบาทความรับผิดชอบของสมาชิกกลุ่ม การรายงานผลการทำโครงงาน และหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
- ผู้สอนเตรียมช่องทางการประชุมปรึกษาหารือกันภายในกลุ่มย่อยแก่ผู้เรียน โดยตั้งเป็น Channel หรือกลุ่มย่อยถาวร เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มได้รายงานความก้าวหน้าในการดำเนินกิจกรรม
- ผู้สอนกำหนดรูปแบบการนำเสนอ เช่น บอร์ดนิทรรศการ สื่อวีดิทัศน์ หรือ Infographic ประกอบการพูดอธิบาย เป็นต้น และเตรียมช่องทางการเผยแพร่ผลงานของผู้เรียน เช่น โพสต์ประกาศของห้องเรียนออนไลน์ แอพพลิเคชั่น Flipgrid, Padlet, Explain Everything, Jamboard เป็นต้น
ผู้เรียน
- ผู้สอนให้ผู้เรียนรวมกลุ่มตามความสมัครใจ โดยมีเงื่อนไขจำนวนสมาชิกในกลุ่มต้องสอดคล้องกับภาระงานและความยากง่ายของโครงงาน
- ผู้สอนมอบหมายให้ผู้เรียนศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning) มาล่วงหน้า โดยผู้สอนควรมีเอกสารหรือสื่อวิดีทัศน์แนะนำสั้นๆ ให้ผู้เรียนได้ทำความเข้าใจด้วยตนเอง
การจัดการเรียนรู้
ขั้นตอนที่ 1 การวางแผนโครงงาน
- ผู้สอนชี้แจงวัตถุประสงค์การเรียนรู้ ลักษณะกิจกรรม ขั้นตอนการทำโครงงาน เกณฑ์การให้คะแนนรายบุคคล/รายกลุ่ม และซักถามความเข้าใจของผู้เรียน
- ผู้สอนให้ผู้เรียนเข้ากลุ่มย่อยใน Channel ที่กำหนดไว้ เพื่อร่วมกันวางแผนการทำโครงงาน โดยต้องบันทึกการประชุมกลุ่มตลอดระยะเวลาการวางแผน และผู้สอนต้องเข้าไปให้ข้อสังเกตหรือคำแนะนำ เมื่อผู้เรียนต้องการ หรือความจำเป็น
- ผู้สอนให้ผู้เรียนศึกษาความเป็นไปได้ในการทำโครงงาน ศึกษาแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการทำโครงงาน และจัดทำเป็นข้อเสนอโครงงาน
- ผู้สอนให้ผู้เรียนนำเสนอข้อเสนอโครงงาน โดยชี้แจงกติกาการนำเสนอ ลำดับการนำเสนอ ระยะเวลาในการนำเสนอ จากนั้นผู้สอนและผู้เรียกลุ่มอื่นๆ ต้องร่วมให้ข้อมูลป้อนกลับแก่ข้อเสนอโครงงานนั้น
- ผู้สอนให้ผู้เรียนปรับปรุงข้อเสนอโครงงาน ตามข้อมูลป้อนกลับที่ได้รับ
ขั้นตอนที่ 2 การดำเนินโครงงาน
- ผู้สอนให้ผู้เรียนเริ่มดำเนินโครงงานตามที่กำหนดไว้ โดยบันทึกข้อมูลและเหตุการณ์สำคัญในแบบรายงานตนเอง (Self-report) ที่เกิดขึ้นในทุกขั้นตอน โดยผู้สอนควรเน้นย้ำกับผู้เรียนว่า การบันทึกการปฏิบัตินี้จะเอื้อให้ผู้เรียนได้ตรวจสอบความคิด ติดตามงาน และฝึกแก้ปัญหาจากผลของการติดตามงานนั้นๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจและผูกพันกับการทำโครงงานอย่างต่อเนื่อง
- ผู้สอนให้ผู้เรียนรายงานความก้าวหน้าในการทำโครงงานตามช่วงเวลาที่กำหนด และให้คำแนะนำปรึกษา หรือเสนอแหล่งเรียนรู้เพิ่มเติม เมื่อผู้เรียนต้องการ ทั้งนี้การกำหนดช่วงเวลาในการรายงานความก้าวหน้าในการทำโครงงาน ผู้สอนควรเว้นช่วงให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติหรือเตรียมข้อมูล รวมถึงควรมีแบบรายงานความก้าวหน้าที่ระบุวัตถุประสงค์ของการรายงานความก้าวหน้าในครั้งนั้นๆ อย่างชัดเจน
- ผู้สอนกระตุ้นเตือนเกี่ยวกับกำหนดการรายงานความก้าวหน้า หรือให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการทำโครงงานหรือการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นในการทำโครงงาน หรือให้การเสริมแรงตามสมควร ผ่านไลน์กลุ่ม หรือ Channel กลุ่มย่อยของผู้เรียนที่กำหนดไว้
- ผู้สอนให้ผู้เรียนรวบรวมและสรุปผลการปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ของโครงงาน และเตรียมนำเสนอโครงงาน โดยผู้สอนอาจมอบหมายให้ผู้เรียนจัดทำ Story Board หรือร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ เพื่อให้ผู้สอนและผู้เรียนกลุ่มอื่นๆ พิจารณาและให้ข้อมูลป้อนกลับก่อนได้
ขั้นตอนที่ 3 การนำเสนอโครงงาน
- ผู้สอนชี้แจงกติกาการนำเสนอ ระยะเวลาในการนำเสนอ ลำดับการนำเสนอ และซักถามความเข้าใจของผู้เรียน
- ผู้สอนให้ตัวแทนกลุ่มแต่ละกลุ่ม นำเสนอผลงานของกลุ่ม โดยนำเสนอในรูปแบบสื่อวีดิทัศน์ หรือ Infographic ประกอบการพูดอธิบาย
- ผู้สอนให้ผู้เรียนกลุ่มอื่นๆ ซักถาม ให้ข้อคิดเห็น จากนั้นผู้สอนจึงให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
- ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการดำเนินโครงงาน และเชื่อมโยงสิ่งที่ได้เรียนรู้กับวัตถุประสงค์การเรียนรู้ของรายวิชาและเนื้อหารายวิชาที่เกี่ยวข้อง
- ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันคัดเลือกผลงานที่โดดเด่น เพื่อนำแสดงต่อสาธารณะ โดยอาจเป็นการแสดงผลงานในระดับสถานศึกษา หรือชุมชน หรือในสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้รับมุมมองจากบุคคลที่หลากหลายมากขึ้นและสามารถใช้เป็นประวัติผลงานของผู้เรียนได้
การประเมินผล
ผู้สอน สามารถประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ได้จากการคุณภาพของแผนการดำเนินโครงงาน การดำเนินงานตามแผนงานที่กำหนดไว้ในแต่ละขั้นตอน หรือประเมินจากทักษะและกระบวนการทำงาน ชิ้นงาน เนื้อหาความรู้ และคุณลักษณะหรือเจตคติที่ผู้เรียนได้รับจากการทำโครงงาน โดยพิจารณาตามเกณฑ์ที่ผู้สอนได้แจ้งกับผู้เรียนอย่างเคร่งครัด
ผู้เรียน ตรวจสอบผลการดำเนินโครงงานของกลุ่มตนเอง โดยเทียบกับกลุ่มอื่น เพื่อให้เห็นจุดเหมือน จุดต่าง และเป็นข้อมูลประกอบการเรียนรู้เพิ่มเติม ทำการสะท้อนคิดการเรียนรู้ (Reflection) ในประเด็นสำคัญ เช่น ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหา ทักษะที่ได้รับจากกิจกรรม แนวทางการนำความรู้และทักษะไปประยุกต์ใช้ เป็นต้น และสามารถให้ผู้เรียนเป็นผู้ประเมินสมาชิกภายในกลุ่มตามเกณฑ์ประเมินที่กำหนดได้
การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning) ต้องอาศัยการกำหนดขอบเขตของการทำโครงงานที่ชัดเจน โดยเฉพาะการมอบหมายให้ผู้เรียนเลือกโครงงานที่มีความเกี่ยวข้องวัตถุประสงค์การเรียนรู้ของรายวิชา และต้องบูรณาการความรู้ในรายวิชาทั้งหมดมาใช้ ไม่ใช่เพียงบางหัวข้อของรายวิชา และไม่ใช่การทดลองในห้องปฏิบัติการแบบโครงงานวิทยาศาสตร์ แต่เป็นการให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์เหมือนการทำงานจริง บนพื้นฐานการใช้องค์ความรู้ที่ได้เรียนมาก ดังนั้นผู้สอนจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพิจาณาข้อเสนอโครงงานให้เป็นไปตามหลักการของการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน และจำเป็นต้องอธิบายเหตุผลประกอบแก่ผู้เรียน กรณีที่ต้องให้ผู้เรียนปรับปรุงข้อเสนอโครงงาน นอกจากนี้ในระหว่างการดำเนินโครงงาน ผู้เรียนอาจหมดแรงจูงใจในการร่วมกิจกรรม หรืออาจเกิดความขัดแย้งระหว่างสมาชิกในกลุ่ม หรือาจเกิดความคับข้องใจในการถูกประเมินโครงงานจากผู้เรียนคนอื่นๆ ดังนั้นผู้สอนจึงจำเป็นต้องชี้แจงถึงความสำคัญจำเป็นในการรับผิดชอบต่อบทบาทที่ได้รับมอบหมาย ให้คำแนะนำหรือเสริมแรงเป็นระยะ อธิบายถึงประโยชน์ของการได้รับผลประเมินจากหลายแหล่งให้ผู้เรียนเข้าใจ และกำหนดเกณฑ์ประเมินที่ชัดเจน พร้อมทั้งชี้แจงให้ผู้ประเมินให้คะแนนตามเกณฑ์ประเมินที่กำหนดอย่างเคร่งครัด และผู้สอนเองจำเป็นต้องให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจปรับปรุงโครงงานเพิ่มเติมแก่ผู้เรียน